โอมิครอน BA.5 ดันผู้ติดเชื้อไทยพุ่งสูงขึ้นเท่าไหร่ ตายเพิ่มมากไหม อ่านเลย

06 ก.ค. 2565 | 21:11 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2565 | 21:44 น.

โอมิครอน BA.5 ดันผู้ติดเชื้อไทยพุ่งสูงขึ้นเท่าไหร่ ตายเพิ่มมากไหม อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังผ่อนคลายมาตรการสวมหน้ากากอนามัย และวัคซีนเข็ม 3 ยังไม่ได้ตามเป้า

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ชัดเจน โควิด-19 ไทยมีการขยับตัวขึ้นแล้ว โดยจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20%

 

จากสถานการณ์โควิดทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีการเพิ่มขึ้นของทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ในช่วงที่ผ่านมา

 

จนองค์การอนามัยโลกได้ออกมาประกาศว่า โควิดยังไม่ยุติการระบาด และอยู่ในสถานการณ์ที่วางใจไม่ได้ จำเป็นจะต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

รวมทั้งโลกกำลังมีความเสี่ยงที่จะประเมินติดตามสถานการณ์โควิดได้ลำบากขึ้น เพราะทุกประเทศเริ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อน้อยลง รวมทั้งการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อดูไวรัสสายพันธุ์ต่างๆก็ลดลงด้วย

 

ประเทศไทยเองก็ได้ประกาศแล้วว่า โควิดยังไม่เป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ตามที่คาดการณ์ไว้
 

จึงต้องมาวิเคราะห์กันว่า เกิดอะไรขึ้นกับสถานการณ์โควิดของโลกและของประเทศไทย พบว่าน่าจะมาจากปัจจัยดังนี้

 

  • โลกกำลังมีไวรัสสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็วกว่าเดิมเป็นสายพันธุ์หลักคือ BA.5 ซึ่งแพร่เร็วกว่า BA.2 ถึง 35%

 

  • หลากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีความทุกข์ยากลำบากของเศรษฐกิจและสังคมมานาน จึงได้ดำเนินการผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมเดินหน้าไปได้

 

แต่หลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการมากเกินความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เสี่ยงต่อการติดโควิด เช่น เรื่องการถอดหน้ากาก
เพราะจริงๆแล้ว เศรษฐกิจและสังคมสามารถเดินหน้าโดยใส่หน้ากากไปพร้อมกันได้ เช่น อนุญาตให้มีการจัดคอนเสิร์ต

 

โอมิครอน BA.5 ดันผู้ติดเชื้อไทยพุ่ง

 

โดยผู้ชมยังคงใส่หน้ากาก หรือให้มีการจัดแข่งขันกีฬาที่มีผู้ชมเป็นจำนวนมาก แต่บังคับให้ใส่หน้ากากอนามัย ขึ้นเครื่องบินเดินทางไปท่องเที่ยว ก็ใส่หน้ากากต่อไป เป็นต้น

 

ทำให้ตัวเลขแนวโน้มของโควิด เริ่มมีการระบาดระลอกย่อยใหม่เกิดขึ้น
สำหรับประเทศไทยนั้น หลังจากที่มีการผ่อนคลายเรื่องการใส่หน้ากากในวันที่ 23 มิถุนายน 2565

สิบวันถัดมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 14.32% ผู้รักษาตัวเพิ่มขึ้น 9.02% แต่ผู้เสียชีวิตยังไม่เพิ่มขึ้น

 

จนถึงปัจจุบัน ซึ่งครบสองสัปดาห์ เราได้เห็นจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตขยับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว

 

โดยเป็นการเปรียบเทียบระหว่างข้อมูลวันที่ 23 มิถุนายน กับ 6 กรกฎาคม พบว่า

 

  • ปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 20.76% 
  • จาก 602 เตียง เป็น 727 เตียง
  • ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 13.57%
  • จาก 280 เตียง เป็น 318 เตียง
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 22.22%
  • จากวันละ 18 ราย เป็น 22 ราย

 

กล่าวโดยสรุป

 

  • ประเทศไทย พบว่าโควิดอยู่ในช่วงขาลงหลังเดือนเมษายน 2565
  • โควิดไทยเริ่มมีการขยับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ในเดือนกรกฎาคม 2565 ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต
  • ปัจจัยที่ทำให้โควิดขยับตัวเพิ่มขึ้นมาจากไวรัสสายพันธุ์ BA.5 เพิ่มขึ้น และมีการผ่อนคลายการใส่หน้ากากรวมทั้งจำนวนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย
  • เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมของไทยเดินหน้าต่อไปได้ เราจำเป็นจะต้องผ่อนคลายมาตรการต่างๆให้ทำมาหากิน แต่ไม่ควรผ่อนคลายมาตรการป้องกันการติดเชื้อ เช่น การใส่หน้ากากอนามัย และการเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3

 

เพราะผลกระทบจากการผ่อนคลายเรื่องใส่หน้ากาก และฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไม่ได้ตามเป้า จะมีผลกระทบย้อนกลับมา ทำให้มิติเศรษฐกิจและสังคม ที่กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดีนั้น จะต้องย้อนกลับมาเข้มงวดกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งน่าเสียดายมาก