รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
ดูเหมือนบรรยากาศมาคุเรื่องโควิดตั้งแต่เมื่อ 4 วันก่อนเริ่มเบาบางลง หลังจากที่ได้โพสต์โยนหินถามทาง (บางคนว่าเป็นลูกระเบิด) ให้ฝ่ายนโยบายได้กลับไปทบทวนแผนรับมือกันให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง
ถึงวันนี้ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่พยายามบูรณาการการทำงานให้เนียนกว่าเดิมมากขึ้น ต้องขอโทษหากทำให้ใครเกิดความไม่สบายใจเป็นการส่วนตัว โดยเฉพาะส่วนหัวที่มีปัญหารุมเร้าหนักเข้ามาไม่ใช่แต่เรื่องโควิดอย่างเดียว
คงต้องรอรายละเอียดประกอบการแถลงข่าวของศบค.ชุดใหญ่วันนี้ ว่าจะนำพาประเทศเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร
ประเด็นแรกที่หลายคนคาใจ เรื่องยอดผู้ติดเชื้อที่ดูแลรักษาตัวเองในชุมชนภายใต้คำแนะนำ และยอดผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลหรือรักษาตัวเองที่บ้านแต่มีการติดตามใกล้ชิด น่าจะตรงกันแล้วว่ามียอดรวมจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม (ปลายเดือนพฤษภาคม) หลายเท่าตัว จนเกือบถึงหรือเริ่มเกินครึ่งหนึ่งของยอดรวมในสัปดาห์พีคสุดช่วงเทศกาลสงกรานต์
แต่ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงแม้จะเพิ่มเกือบถึง 800 แล้วในวันนี้ดังรูป แต่คิดเป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับช่วง BA.2 ระบาด ความรุนแรงน่าจะลดลงมาราว 20% อาจเป็นเพราะเราฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกันมากขึ้น หรือไม่ก็เชื้อเองเขาคลายความรุนแรงลงเพื่อปรับตัวเป็นเชื้อประจำถิ่น
แทรกเรื่องวัคซีนกันหน่อย ผู้เชี่ยวชาญบ้านเราเขาสรุปกันมาว่า ถ้าฉีดเข็มพื้นฐานครบสองเข็ม โอกาสโรครุนแรงในช่วง BA.1/BA.2 ระบาดอยู่ที่ 75% ถ้ากระตุ้นหนึ่งเข็มจะเพิ่มเป็น 93% แต่ถ้ากระตุ้นสองเข็มจะเป็น 96% หวังว่าตรรกกะนี้คงยังใช้ได้ดีกับช่วงระบาดจาก BA.4/BA.5 เช่นกัน
แม้ว่าช่วงนี้จะเริ่มพบผู้เสียชีวิตที่ได้เข็มกระตุ้นแล้วหนึ่งเข็ม แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับผู้ที่ฉีดกระตุ้นเข็มหนึ่งไปแล้วทั้งหมด และผู้เสียชีวิตเหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่ม 608 ที่ภูมิคุ้มกันอาจขึ้นไม่ดีจากเข็มกระตุ้นที่หนึ่งเหมือนคนทั่วไป รู้อย่างนี้แล้วใครเป็นกลุ่มเปราะบางควรรีบเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สอง
ประเด็นที่สองของการคาใจ คือการสื่อสารสู่สาธารณะที่ทำให้คนเข้าใจว่า “โรคโควิด-19 กำลังเป็นโรคประจำถิ่น ถอดหน้ากากได้แล้ว แต่ควรใส่หน้ากาก ถ้า...” ซึ่งรายละเอียดหลังถ้า... มีเยอะมาก แถมนำเสนอแบบรัวๆ เหมือนคุ้นจากได้ยินคำเตือนในโฆษณาที่ไม่ตั้งใจให้คนจับใจความได้
แต่ควรจะเป็น “โรคโควิด19-กำลังเป็นโรคประจำถิ่น แต่การใส่หน้ากากในที่สาธารณะยังมีความจำเป็น สามารถถอดหน้ากากได้ชั่วคราว ถ้า...” (ช่วงหลังถ้า...จะเร่งสปีดหน่อยก็ได้นะ) หวังว่าต่อจากนี้อารมณ์ของสาธารณชนจะถูกจูนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่ออนาคตประเทศชาติของเรา
สำหรับท่านซึ่งห่วงบุตรหลานที่ไปเรียนแล้วติดโรคกันมากช่วงนี้ แม้ตัวเด็กเองอาการจะไม่รุนแรง แต่ก็ทำให้ต้องขาดเรียน หรือบางแห่งหนักหน่อยต้องปิดเรียนชั่วคราวก็มี
ที่สำคัญคือมีการนำเชื้อกลับมาแพร่ที่บ้านด้วย เป็นส่วนเสริมให้การตลาดของ BA.4/BA.5 เขาได้ผลจนใกล้เป็นขาใหญ่เบ็ดเสร็จแล้ว แต่หากไปวิเคราะห์กันดูในรายละเอียด ยังมีจุดที่พอจะพัฒนากันได้อีก เช่น
โรงเรียนห้องแอร์ที่มีสัดส่วนติดมากกว่าโรงเรียนห้องเปิดโล่ง ซึ่งคงยังไม่สามารถปรับระบบหมุนเวียนอากาศให้สะอาดได้ทัน จึงต้องเน้นย้ำกันว่าห้องเรียนติดแอร์ให้เปิดประตูหน้าต่างครั้งละอย่างน้อยห้านาทีของทุกคาบเรียน รวมถึงกำชับให้ครูและนักเรียนใส่หน้ากากในระหว่างเรียนโดยเคร่งครัด
ช่วงกินอาหารกลางวันและกินอาหารว่าง รวมถึงช่วงว่างในระหว่างพักเรียนและหลังเลิกเรียน อาจมีการรวมกลุ่มเล่นหัวกันโดยไม่ใส่หน้ากากหรือหน้ากากเลื่อนหลุด ควรต้องช่วยกันสอดส่องดูแลและเน้นย้ำให้เด็กระมัดระวัง
สุดท้ายคือการปกป้องเด็กก่อนและหลังมาเรียน ต้องพยายามไม่ให้มีการแวะเวียนที่ใดระหว่างทางถ้าไม่จำเป็น และถ้าใช้บริการขนส่งสาธารณะ ต้องมีการบังคับให้ผู้ร่วมใช้บริการใส่หน้ากาก (mask mandate) โดยเคร่งครัด เพื่อปกป้องเยาวชนของชาติและย้อนกลับมาปกป้องพวกเรากันเองด้วย
ผมหวังว่าสถานการณ์ระบาดระลอกที่ 5.2 จากโอมิครอน BA.4/BA.5 นี้ จะอยู่กับเราไม่นานเกินเดือนนี้ ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างแข็งขัน
อย่าลืมไปร่วมบริจาคเลือดกันให้มากๆ ตุนไว้ก่อนด้วย เพราะอาจมีการขาดแคลนเป็นการชั่วคราวในช่วงนี้