โควิดโอมิครอนติดเชื้อซ้ำได้ภายในกี่วัน ต้องป้องกันอย่างไร เช็คเลย

10 ก.ค. 2565 | 05:16 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2565 | 12:16 น.

โควิดโอมิครอนติดเชื้อซ้ำได้ภายในกี่วัน ต้องป้องกันอย่างไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ชี้การติดซ้ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ


ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว (Anan Jongkaewwattana)โดยมีข้อความระบุว่า 


การติดเชื้อซ้ำ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงหนีการจับของภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการติดเชื้อ หรือ จากวัคซีนได้ หรือ ภูมิจากร่างกายตกลงค่อนข้างไวจนไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการติดเชื้อครั้งใหม่ได้

 

หรือการติดเชื้อครั้งก่อนเป็นการติดเชื้อแบบได้รับเชื้อมาไม่มากพอการกระตุ้นภูมิตามธรรมชาติจึงไม่เพียงพอ การติดเชื้อซ้ำถือเป็นเรื่องปกติสำหรับไวรัสที่เปลี่ยนแปลงไว

 

สำหรับ SARS-CoV-2 ก่อนการระบาดของโอมิครอนเชื่อกันว่า การติดเชื้อซ้ำเกิดได้ค่อนข้างยาก โดย US-CDC ใช้เวลา 90 วัน เป็นเกณฑ์ในการสรุปว่าคนที่มีอาการโควิดซ้ำเกิดจากการติดเชื้อซ้ำ หรือ ว่ารักษายังไม่หายดี 

แต่หลังจากการระบาดของโอมิครอน ตัวเลข 90 วัน เหมือนจะใช้ไม่ได้เพราะมีข้อมูลออกมายืนยันมากขึ้นว่า การติดเชื้อซ้ำสามารถเกิดขึ้นได้ไวกว่านั้นมาก 

 

ตัวเลขหน่วยงานด้านสาธารณสุขของออสเตรเลีย (AHPPC) ระบุว่า การติดเชื้อซ้ำสามารถเกิดขึ้นได้ ภายใน 28 วัน หลังหายจากอาการโควิด ดังนั้นใครมีตรวจผลเป็นบวกหลังจากหายป่วย 28 วัน แทนที่จะเป็น 90 วัน จะถูกนับว่าติดเชื้อซ้ำ

 

การติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นเพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายมีไม่สูงพอในการป้องกันการติดเชื้อ เรียกว่า Sterilizing immunity โดยภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ส่วนนี้คือ แอนติบอดี เท่านั้น และ เนื่องจากไวรัสติดเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินหายใจ แอนติบอดีในจมูก หรือ ทางเดินหายใจจึงเป็นตัวกำหนดว่าเราจะติดเชื้อหรือไม่อย่างไร

 

โควิดโอมิครอนติดเชื้อซ้ำได้ภายในกี่วัน

 

เชื่อว่าผู้ที่ติดเชื้อมาก่อนน่าจะมีแอนติบอดีในส่วนนี้ไม่มากก็น้อย แต่การติดเชื้อที่มากน้อยแตกต่างกันอาจส่งผลให้แอนติบอดีในจมูกขึ้นไม่เท่ากัน คนที่ติดซ้ำได้ไว คาดว่าแอนติบอดีมีไม่มากพอที่จะจับไวรัสได้ ส่วนแอนติบอดีจากวัคซีนที่ไปกระตุ้นกันผ่านทางฉีดเข้ากล้ามมีจำนวนน้อยที่จะไปทำหน้าที่ตรงส่วนนี้  
 

ส่วน T cell จะช่วยเราได้เฉพาะหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อมาแล้ว และ ช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสสร้างความเสียหายให้กับร่างกาย

 

ดังนั้นภาพของระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายจะบอกว่าเรามีภูมิอยู่ 2 ระดับ ระดับแรกคือภูมิที่ป้องกันการติดเชื้อ คือ แอนติบอดีในระบบทางเดินหายใจต้องสูงเพียงพอ ซึ่งการติดเชื้อในธรรมชาติอาจช่วยตรงส่วนนี้ได้ หรือ การรับวัคซีนช่วงแรกๆแต่แอนติบอดีตกไวมากๆเพียงไม่กี่วันซึ่งคิดว่าอาจจะไม่มีประโยชน์ในแง่การป้องกันการติดเชื้อ 

 

ระดับ 2 คือ T cell ที่ทั้งการติดเชื้อจากธรรมชาติ และ วัคซีน ช่วยได้ดีมาก และ อยู่นานเป็นเดือน ซึ่งจะเห็นว่าผู้ที่ได้วัคซีนเข็มกระตุ้นมาถึงแม้จะติดเชื้อได้อยู่แต่อาการจะเบากว่าผู้ที่ไม่มี่ภูมิจากวัคซีนมาก แต่ถ้าภูมิตกลงจากระดับ 2 ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระตุ้นภูมิขึ้นมาอย่างน้อยให้สูงเกินระดับ 2 เพื่อป้องกันอาการรุนแรงหลังการติดเชื้อ

 

การกระตุ้นด้วยวัคซีนแต่ละครั้งอาจช่วยให้ T cell สูงขึ้น แต่ T cell ไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ และ ระดับที่จำเป็นต่อการป้องกันอาการรุนแรงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นในทุกๆครั้งที่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาในประเทศ ส่วนแอนติบอดีที่กระตุ้นได้ก็ลงเร็วภายในไม่กี่วันเหมือนเดิม