รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
เป็นที่น่าพอใจแล้วภายหลังเคลียร์ใจกัน ไม่ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยจริงจะมีกี่หมื่นกันแน่
ต่อจากนี้มา (กัดฟัน) ร่วมกันเดินหน้าฝ่าภัยโควิดต่อไปดีกว่า
ปรากฎการณ์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ช่วยสะท้อนกระบวนทัศน์การมองปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนได้เป็นอย่างดี
มุมมองแบบเก่า ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยไม่ยอมเปลี่ยนตามยุคสมัย (หรือยอมแต่น้อยและช้า)
เห็นว่ากิจการของรัฐเป็นเรื่องของข้าราชการการเมือง (นักการเมือง) ที่เข้ามาบริหาร (แหล่งที่มาการได้บริหารอาจถกเถียงกันได้ถึงความชอบธรรม)
ร่วมกับข้าราชการประจำ (ที่ปฏิรูปหลายรอบยังไปไม่ถึงไหน) ส่วนประชาชนคอยทำตามและให้อยู่ในโอวาทก็เพียงพอแล้ว
มุมมองแบบใหม่ โลกเจริญรุดหน้า สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมีความซับซ้อน
"ประชาชน" (people) มีการเรียนรู้และตระหนักรู้ด้วยตัวเอง จนส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่กลายเป็น "พลเมือง" (citizen) ที่มีความสนใจและใส่ใจในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อผลักดันสังคม (social advocacy)
ดังนั้นการขับเคลื่อนประเทศไม่ใช่การผูกขาดในมือนักการเมืองและข้าราชการเหมือนในอดีตแล้ว ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกับประชาชนในการวางยุทธศาสตร์ชาติ
พร้อมมียุทธวิธีที่ตอบโจทย์เป้าหมายให้ได้ดี และเคารพสถานะการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างจริงใจ
สำหรับเรื่องการใส่หน้ากากในที่สาธารณะ เห็นได้ชัดเจนว่ากลับมาเคร่งครัดกันขึ้นทันตา เป็นสิ่งที่ช่วยพิสูจน์ว่า หากพลเมืองเขาตระหนักรู้ด้วยข่าวมูลข่าวสารที่เที่ยงตรงและทันการณ์
การกระทำของเขาแสดงออกมาก่อนที่ภาคนโยบายและภาคการแพทย์จะตกผลึกกันเองได้เสียด้วยซ้ำ
ที่ยังมองต่างมุมกันหน่อย คือการคาดการณ์อนาคต ฉากทัศน์ที่ถูกนำเสนออย่างเป็นทางการว่าพีคนี้เล็กแต่ยาวไปอีกกว่าเดือน
แต่ของผมเองด้วยเวชญาณ (medical intuition) ส่วนบุคคล เชื่อว่าพีคนี้ใหญ่ถึงครึ่งของช่วงสงกรานต์แต่สัดส่วนความรุนแรงน้อยกว่า
และกำลังถึงหรือเลยจุดสูงสุดมาหน่อยแล้วด้วยซ้ำ ถ้าจริงดังว่า เดือนหน้าน่าจะหายใจหายคอกันคล่องขึ้น
สนับสนุนอีกทางด้วยตัวเลขของสมาชิกบ้านริมน้ำที่การติดเชื้อเริ่มลดลงช้าๆ แล้ว