โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีของไทย ส่วนใหญ่มักนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะ "ข้าราชการ" ซึ่งนับว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความมั่นคงกับการใช้ชีวิต จนทำให้ในแต่ละปีมีผู้สมัครสอบเป็นข้าราชการจำนวนมาก
จากข้อมูลสถิติประชากรในประเทศ ปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน จำนวน 38.63 ล้านคน โดยเป็นการจ้างงาน ในส่วนของกำลังคนภาครัฐ จำนวน 2.91 ล้านคน ประกอบด้วย
ขณะที่แนวโน้มงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคล จากข้อมูลสถิติการคลัง ได้รายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2564 รวมทั้งสิ้น 3.01 ล้านล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ คิดเป็น 36.4% ของรายจ่ายประจำปี จำนวน 1.09 ล้านล้านบาท
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ได้จัดทำรายงานสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคนของส่วนราชการในฝ่ายพลเรือนและแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ เสนอให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ
ทั้งนี้มีข้อเสนอที่น่าสนในเกี่ยวกับการบริหารอัตรากำลังของภาคราชการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนี้
1.ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดการบริหารอัตราว่างให้แล้วเสร็จ โดยเร็วภายใน 1 ปี โดยดำเนินการสรรหา สอบคัดเลือก และบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ในอัตรากำลังที่ว่างอยู่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชนและมีกำลังคนเข้าสู่ระบบแรงงาน ในประเทศเพิ่มขึ้น
โดยจากการสำรวจข้อมูลอัตราว่างข้าราชการของส่วนราชการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของ คปร. เดือนพฤษภาคม 2565 จำนวนทั้งสิ้น 173 ส่วนราชการ พบว่ามีจำนวนอัตราว่าง รวม 68,593 อัตรา ประกอบด้วย
ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในภาพรวมจะมีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ ของทุกส่วนราชการ รวม 9,705 อัตรา โดยเป็นตำแหน่งที่จะต้องยุบเลิกเพื่อทดแทนด้วย กรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ ประมาณ 1,306 อัตรา และคงเหลืออัตราว่างระดับแรกบรรจุที่สามารถ บรรจุได้ทันทีประมาณ 4,697 อัตรา
2.ให้สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมอัตรากำลังบุคลากร และภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ โดยการพิจารณาทบทวนบทบาทภารกิจ และโครงสร้างองค์กรภาครัฐและกำหนดกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสม
โดยขอให้เน้นการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Goverment) ควบคู่กับการปรับรูปแบบและวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับลักษณะงาน โอนงานบางประเภทให้เอกชนดำเนินการ หรือ Outsourcing และเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจที่สามารถ มอบหรือกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการ รวมทั้งเน้นการใช้รูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐในระยะยาว
นอกจากนี้ หากส่วนราชการ มีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่ม ควรต้องมีการวางแผนกำลังคนเพื่อลดการเพิ่ม กำลังคนที่ซ้ำซ้อน และอาจสนับสนุนอัตรากำลังในรูปแบบสัญญาจ้างรายปี ในลักษณะของพนักงานราชการ เฉพาะกิจไปก่อน หากในระยะยาวส่วนราชการพิสูจน์ได้ว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้กำลังคนในรูปแบบ ข้าราชการ จึงจะพิจารณาจัดสรรให้ตามความจำเป็นของภารกิจ
โดยให้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติ ให้ชัดเจนว่า หากส่วนราชการใดมีการปรับปรุงบทบาทภารกิจที่ต้องมีการตัดโอนภารกิจจากส่วนราชการหนึ่งไปให้อีกส่วนราชการหนึ่ง จะต้องตัดโอนอัตรากำลังและงบประมาณตามภารกิจนั้นไปให้ส่วนราชการ ที่รับโอนภารกิจด้วย เพื่อไม่ให้ส่วนราชการมีการใช้กำลังคนและงบประมาณที่ซ้ำซ้อน
3.ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ทุกภาคส่วนนำแนวทางการบริหารอัตรากำลังของ คปร. ไปปรับใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้การกำกับดูแล การควบคุมขนาดกำลังคนและภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้การลดขนาดกำลังคนภาครัฐและแผนการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของประเทศบรรลุตามเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ได้
4.ให้สำนักงาน ก.พ. เร่งจัดทำมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐในระยะต่อไป โดยกำหนดให้มีการตรึงอัตรากำลังคนภาครัฐไว้ระยะหนึ่ง รวมทั้งเข้มงวดกับการพิจารณาจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่ของส่วนราชการอย่างจริงจัง เพื่อลดภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของภาครัฐที่มีอัตราอยู่ในระดับสูงมาก
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องมีมาตรการที่จริงจัง และเร่งด่วนในการปรับลดขนาดกำลังคนภาครัฐและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลในระยะยาว
นอกจากนี้ การพิจารณาจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่อาจต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ ภายนอกหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในภารกิจที่เกี่ยวข้องตามคำขอของส่วนราชการมาให้ความเห็น เพิ่มเติม เพื่อให้การจัดสรรอัตรากำลัง โดย คปร. เป็นไปอย่างรอบคอบ มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ากับภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคลที่เพิ่มสูงขึ้นจากการจัดสรรอัตรากำลัง
5.ให้ส่วนราชการที่มีคำขอรับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่ทั้งอัตราข้าราชการ และพนักงานราชการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน ก.พ. ทบทวนคำขอให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่อย่างเคร่งครัด โดยจะต้องทบทวนความจำเป็นของภารกิจ การกำหนดตัวชี้วัด ผลผลิตและผลลัพธ์ที่ท้าทายและเป็นรูปธรรม
รวมทั้งมีแผนการปรับปรุง กระบวนการทำงานมีการเกลี่ยอัตรากำลังภายในส่วนราชการ ทั้งระดับกรมและกระทรวง และมีการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงาน เพื่อทดแทนการใช้กำลังคน รวมทั้งมีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย เหมาะสมกับภารกิจ เพื่อประกอบการพิจารณาของ คปร. และครม. ต่อไป