การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รอบล่าสุด มีมติเห็นชอบออกระเบียบรองรับให้ “ข้าราชการ” ทำงานจากที่ไหนก็ได้ หลังเห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ
ความเป็นมาของเรื่องนี้ สปน. รายงานต่อที่ประชุมครม. ดังนี้
ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับปรับปรุง) กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 จัดโครงสร้างองค์กร และระบบงานภาครัฐให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัวและเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์
โดยกำหนดกรอบระยะเวลาการกำหนดให้มีแนวทางการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Anywhere) ที่รองรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและลักษณะขององค์กร โดยให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ไว้ในปี 2565
ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ สปน. พิจารณาปรับปรุงและพัฒนาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ และรองรับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนราชการ
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แผนการปฏิรูปประเทศ มติคณะรัฐมนตรี และคำสั่งรองนายกรัฐมนตรี สปน. จึงได้ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ. .... ขึ้น
โดยได้พิจารณาร่างระเบียบฯ ดังกล่าวร่วมกับผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และได้ปรับปรุงแก้ไขร่างระเบียบฯ ดังกล่าวตามความเห็นหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมแล้ว
ต่อมาได้เสนอร่างระเบียบฯ ดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนะการยกเลิกหรือการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในความรับผิดชอบ ให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานในปัจจุบัน
รวมถึงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ สภาวะเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างระเบียบฯ เป็นที่เรียบร้อย และเสนอมายังครม.
สาระสำคัญของร่างระเบียบฯ ดังกล่าว มีดังนี้
1.บทนิยาม
“ส่วนราชการ” หมายความว่า ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม แต่ไม่รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักความเป็นอิสระของ อปท. ไว้ โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น ส่วนรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนมีกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมดูแลอยู่
“การปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ” หมายความว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการนอกที่ตั้งของส่วนราชการ หรือในพื้นที่ที่ส่วนราชการจัดไว้เป็นที่ทำงานร่วม (Co-Working Space) หรือที่พักของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ หรือสถานที่อื่นใดที่ส่วนราชการกำหนด
2.ข้อยกเว้น
กำหนดให้การปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการไม่รวมถึงการได้รับอนุมัติให้เดินทางไปราชการ และการจัดการประชุมของส่วนราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการ และการจัดการประชุมของทางราชการ
3.การปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ
กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการอาจสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในสังกัดปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการหรือกลับมาปฏิบัติงาน ณ ที่ตั้งของส่วนราชการได้ตามที่เห็นสมควร โดยมอบหมายงานที่สามารถปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ กำหนดรูปแบบ จำนวนวันในการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ รวมถึงวิธีสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปปฏิบัติราชการ ณ ที่ตั้งของส่วนราชการ
กำหนดให้ส่วนราชการกำหนดวิธีบริหารจัดการและกำกับติดตามงานในช่วงเวลาที่มอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในสังกัดปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ โดยคำนึงถึงลักษณะงานและภารกิจของส่วนราชการ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการมีหน้าที่ที่ต้องพร้อมให้ผู้บังคับบัญชาสามารถติดต่อสื่อสารได้ตลอดช่วงเวลาที่ปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ
4.การควบคุมเวลาในการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ
การลาของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในระหว่างช่วงระยะเวลาที่ปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการให้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการลาของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการแต่ละประเภท
ให้ส่วนราชการจัดทำบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในสังกัด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ หรือจะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการยืนยันตัวตนเพื่อใช้ลงเวลาการปฏิบัติราชการก็ได้
อย่างไรก็ตามในขั้นตอนต่อไปหลังจากผ่านครม. แล้ว จะส่งไปยังคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติ โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไป พร้อมกันนี้ยังให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย