มณีแดงคืออะไร เป็นคำถามที่กำลังต้องการคำตอบ หลังจากที่มีกระแสข่าวเรื่องของสรรพคุณในการต่อต้านความชรา
น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ต้องสนใจ !! มณีแดง ทำให้คนชราวัย 70 ปี กลับมาเป็นหนุ่มสาววัย 25 ปี ได้จริงหรือไม่ ?
มณีแดง : โมเลกุลที่อาจช่วยต้านความชราภาพหรือย้อนวัยได้ แต่ต้องรอการทดลองในมนุษย์เสียก่อน
จากที่มีข่าวคราวปรากฏในสื่อต่างๆ เรื่องมณีแดงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าเป็นโมเลกุลพิเศษที่สามารถทำให้ย้อนวัย คือ คนชรากลับมาเป็นหนุ่มสาวได้
หรือต้านความชรา คือ ทำให้คนหนุ่มสาวไม่แก่ชรา แปลความไปไกลขนาดที่ทำให้คนอายุ 70 ปี กลับมาเป็นคนหนุ่มสาวอายุ 25 ปีได้
จนปรากฏเป็นข่าวฮือฮาเป็นทั่ว และมีผู้คนสนใจแสวงหามาใช้กับตนเอง
ตลอดจนในตลาดออนไลน์ เริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อว่ามณีแดง แต่ไม่ได้มีส่วนของมณีแดงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงทำให้ยิ่งเกิดความสับสนมากขึ้น
วันนี้เราจะมาติดตามและทำความเข้าใจรายละเอียดเรื่องนี้กันให้ชัดเจน
มณีแดง เป็นคำภาษาไทยที่คุณหมออภิวัฒน์ มุทิรางกูร จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักวิจัยผู้ค้นพบโมเลกุลมณีแดง ได้ตั้งชื่อขึ้น
มาจากโมเลกุลทางการแพทย์ที่ประเทศไทยได้วิจัยพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกคือ REjuvenation Dna by GEnomic stability Molecules โดยใช้คำย่อว่า ”RED GEMs”
คุณหมอจึงเรียกชื่อเพื่อให้จำได้ง่ายว่า “มณีแดง”
ดังนั้นมณีแดงจึงไม่ใช่สมุนไพร ไม่ใช่อัญมณี แต่เป็นโมเลกุลที่วิจัยพัฒนาขึ้นมาทางการแพทย์
โมเลกุลที่สังเคราะห์ขึ้นดังกล่าวนี้ มีความสำคัญมาก เพราะจะไปแก้ปัญหาความชราภาพตามธรรมชาติของเซลล์สิ่งมีชีวิตได้
ซึ่งในขณะนี้ยังคงเป็นการทดลองในขั้นสัตว์ทดลองคือระดับหนูกับลิงแสม ยังไม่มีการทดลองกับเซลล์มนุษย์หรือในมนุษย์ที่เป็นอาสาสมัครแต่อย่างใด
โดยมีองค์ความรู้เดิมที่พบว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบด้วยเซลล์ ภายในเซลล์จะมีนิวเคลียสอยู่ ภายในนิวเคลียสมีโครโมโซม และโครโมโซมจะมี DNA เป็นองค์ประกอบสำคัญ
DNA เป็นสารพันธุกรรมคู่ ที่ขดเป็นเกลียว (Double Helix) ดังนั้นจึงต้องมีการคลายตัวแล้วขดใหม่ ในกระบวนการต่างๆของการดำรงชีวิต
ในคนวัยหนุ่มสาว DNA จะมีข้อต่อหรืออาจเรียกว่าช่องว่าง หรือรอยแยก ( Youth DNA Gap) ซึ่งจะช่วยให้ DNA สามารถยืดหยุ่น เวลามีการคลายตัวและขดตัวได้ดี
แต่เมื่ออายุมากขึ้น หรือแก่ชราแล้ว ตัวข้อต่อดังกล่าวก็ลดจำนวนลงเป็นลำดับ ทำให้ทุกครั้งที่ DNA มีการขดตัวและคลายตัว จะเกิดความเสียหายขึ้น เพราะขาดตัวข้อต่อที่ทำให้เกิดความยืดหยุ่น
เป็นต้นเหตุทำให้เซลล์เกิดความชราหรือแก่ตัว ทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นแก่ชราไปตามเซลล์ด้วย
ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกิดริ้วรอยการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ
คุณหมออภิวัฒน์และทีม ได้ค้นพบโมเลกุลพิเศษ (มณีแดง) ที่สามารถเพิ่มจำนวนหรือทำให้ข้อต่อรอยแยกดังกล่าวมีเพิ่มมากขึ้น
จึงเป็นการต้านการชราภาพ หรือสามารถทำให้ย้อนวัย จากที่เซลล์แก่ชรา กลายเป็นเซลล์หนุ่มสาวได้
ความก้าวหน้ามีลำดับดังนี้
1.การทดลองในหนู ได้มีการศึกษาในหนูที่เป็นวัยหนุ่มสาวอายุ 7 เดือน เปรียบเทียบกับหนูชราอายุ 30 เดือน และหนูชราอายุ 30 เดือนที่ได้มณีแดง
จะพบว่าในหนูวัยหนุ่มสาวอายุ 7 เดือน จะไม่ค่อยพบเซลล์ชราภาพ
แต่ในหนูอายุ 30 เดือน จะพบเซลล์ชราภาพเต็มตับไปหมด
ส่วนในหนูอายุ 30 เดือนที่ได้รับมณีแดง ปรากฏว่าเซลล์ชราภาพลดลง หลังจากที่ได้รับการฉีดสารมณีแดงทุกสัปดาห์ เป็นเวลาแปดสัปดาห์ต่อเนื่องกัน
ไม่มีการทำลายเซลล์ชราภาพ แต่เป็นการฟื้นฟูให้เซลล์กลับมาทำงานปกติเหมือนเซลล์หนุ่มสาว รวมทั้งเซลล์ของสมองหนูก็ดีขึ้นด้วย
2.ต่อมาเริ่มวิจัยในลิงแสม ซึ่งก็เป็นการทดลองในทำนองเดียวกัน พบว่าสามารถช่วยเนื้อเยื่อสมองทำให้ความจำดีขึ้น เนื้อเยื่อของปอดที่เป็นเป็นพังผืดดีขึ้น รวมทั้งเซลล์กระดูกและหัวใจด้วย
3.จึงคาดว่าอาจจะมีประโยชน์หลังจากที่งานวิจัยในมนุษย์สำเร็จแล้วดังนี้
4.โดยที่ทางคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับงบสนับสนุนในช่วงแรกจาก วช. และขณะนี้กำลังทำงานร่วมมือกับปตท ซึ่งมีบริษัทลูกคืออินโนบิก(เอเชีย) จำกัด ก็จะทำให้งานวิจัยดังกล่าวรุดหน้าเร็วขึ้น คาดว่าจะเริ่มสามารถทดลองในมนุษย์ได้ ในเดือนเมษายน 2566
5.อนาคต ถ้าโชคดี การวิจัยได้ผลในมนุษย์จริง และมีการติดตามที่นานพอในอาสาสมัครจำนวนมาก ว่ามีความปลอดภัยดี ไม่กระทบกับอวัยวะส่วนอื่น หรือมีผลเสียที่คาดไม่ถึง
คาดว่าจะเริ่มสามารถใช้ในมนุษย์เป็นการนำร่องได้ในปี 2567
6.อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังคงมีจำกัด เราทราบกลไกของการชราภาพเพียงบางส่วน
เมื่อมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเข้าไปแก้ปัญหาชราภาพ ก็แก้ได้บางจุดบางส่วน คงจะตอบยากว่า จะมีผลกระทบไปสู่เรื่องอื่นที่เราไม่ทราบมากน้อยอย่างไร
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวนี้ ก็น่าจะให้ความสนใจและควรส่งเสริมสนับสนุน เพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อใช้กับคนจำนวนมากในอนาคต
จึงเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก กับงานทางวิชาการของประเทศไทยอีกชิ้นหนึ่ง
สุดท้ายนี้ ขอย้ำว่า ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ อาหาร หรือยาใด ที่มีส่วนผสมของมณีแดงจากคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่อย่างใด เพราะยังเป็นการทดลองในขั้นสัตว์ทดลองเท่านั้น