สะพานกลับรถถล่ม บทเรียนราคาแพงที่ต้องค้นหาความจริง

02 ส.ค. 2565 | 02:15 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2565 | 09:28 น.

ดร.เอ้ โพสต์เสนอ วิธีหาสาเหตุการพังทลายของทุกโครงสร้าง ยกเคสเหตุสะพานกลับรถถล่มเละหลังคาด่านเก็บเงินมอเตอร์เวย์ถล่ม เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต

ดร.เอ้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว เอ้ สุชัชวีร์ ถึงเหตุการณ์ สะพานกลับรถถล่ม ที่ถนนพระราม 2 หล่น มีผู้เสียชีวิต เเละเหตุการณ์หลังคาด่านเก็บเงินมอเตอร์เวย์ถล่ม  โดยระบุว่าเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงสังคมไทยที่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยน้อยเกินไป

สำหรับเรื่องอาคารถล่ม คานหล่น ป้ายล้ม ดร.เอ้ พูดถึงด้านวิศวกรรม ด้านวิชาการเพื่อเป็นกรณีศึกษา ป้องกันเหตุในอนาคต โดยสิ่งแรกที่ขอเสนอเพื่อเป็นประโยชน์ คือ ต้องเร่งหาสาเหตุและเหตุปัจจัย เพราะการถอดบทเรียนอย่างจริงจัง จะช่วยลดความเสี่ยงในอนาคต

สะพานกลับรถถล่ม บทเรียนราคาแพงที่ต้องค้นหาความจริง

เริ่มต้นจากวิธีหาสาเหตุการพังทลายของทุกโครงสร้าง มี 4 ขั้นตอนมาตรฐานเหมือนกัน คือ

  1. "มาตรฐานการออกแบบ" ทั้งงานก่อสร้าง ซ่อมแซม ว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าออกแบบ คำนวนหรือวางแผนผิดมาตรฐาน สร้างไปก็เสี่ยงพัง แต่ถ้าออกแบบถูกมาตรฐาน 
  2. "ขั้นตอนและวิธีการก่อสร้าง" ตรงตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะแม้ออกแบบถูก แต่ก่อสร้างผิด เช่น ใส่เหล็กเสริมน้อยกว่าแบบมาตรฐาน หรือ ขั้นตอนวิธีการก่อสร้างผิด ก็พังได้ หากออกแบบถูกต้อง ก่อสร้างถูกต้อง 
  3. "ใช้งานถูกประเภทตามมาตรฐาน" หรือไม่ เช่น ออกแบบถนนให้รถปกติ แต่มีรถบรรทุกหนักเกินมาตรฐานกำหนดวิ่ง ถนนก็พัง แล้วถ้าออกแบบถูกต้อง ก่อสร้างถูกต้อง ใช้งานถูกต้อง ยังพัง 
  4. "ภัยพิบัติ" ทั้งจากธรรมชาติ เช่น พายุฝน น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือจากมนุษย์ เช่น ไฟไหม้ โครงสร้างก็พังได้

 

ขณะเดียวกันได้ตั้งสมมุติฐานเบื้องต้น จากข้อมูลที่พอมี กรณีคานหล่นเพื่อให้ลองพิจารณาที่ละประเด็นความเป็นไปไดั

  1. ขั้นตอนและวิธีการรื้อพื้นถนน การใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรสกัดพื้นออก ที่อาจไปกระทบโครงสร้างรับคาน ให้เสียหาย สุดท้ายก็พลิกหล่นลงมาได้ ลองดูภาพถ่ายสะพานทางอากาศ หลังเกิดเหตุ เมื่อซูมเข้าดู หรือถ้าเข้าไปสำรวจหน้างาน คงจะได้คำตอบประเด็นนี้ได้
  2. คานที่เคยรับน้ำหนักพื้นถนนกดทับ เมื่อรื้อพื้นเอาน้ำหนักกดทับออก คานอาจมีการคลายขยายตัว เคลื่อนตัวได้ อีกทั้งเป็นคานตัวริมนอก มีปีกกำแพงกันตกรั้งดึงอีก แต่การเคลื่อนตัว ไม่ได้หมายความว่าจะถึงกับร่วงลงมาแบบนี้ ถ้าเป็นกรณีนี้ ก็น่าต้องมีปัจจัยอื่นเสริมด้วย ถึงทำให้คานหล่นได้  การตรวจสอบทำได้ด้วยการวัดค่าแอ่นหรือโก่งตัวของคาน ที่ยังแขวนอยู่ จะรู้ได้ทันที
  3. แรงลม จากพายุฝน รวมทั้งความชื้น อาจส่งผลให้คานมีน้ำหนักเพิ่ม หรือขยับได้เช่นกัน แม้อาจมีผลไม่มาก ก็อาจเป็นส่วนประกอบหนึ่ง ก็เป็นได้
  4. แรงสั่นสะเทือนจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่วิ่งอย่างหนาแน่นบนถนนพระราม 2 อาจเขย่าคานที่แขวนต่องแต่งอยู่ หลังจากสกัดพื้นยึดเหนี่ยวออก อาจทำให้ขยับก็เป็นไปได้
  5. โครงสร้างคานเก่า อาจมีความล้า อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ สาเหตุต้องไปรื้อดูตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง และการใช้งานตลอดร่วม 30 ปี แนะนำให้รีบตรวจคานอีก 4 คานที่ยังแขวนอยู่ หากเกิดจากปัญหาโครงสร้าง จะมีความเสี่ยง อาจพังลงมาอีก
  6.  ทุกปัจจัยที่สมมุติฐานนี้ อาจเกิดขึ้นพร้อมกัน นำไปสู่เหตุคานพลิกหล่น

 

"ข้อคิดเห็นทางวิชาการเบื้องต้นนี้ ด้วยข้อมูลอันจำกัด อาจใช่หรือไม่ใช่ ยังไม่มีวิศวกรคนใดหยั่งรู้ได้ เพราะต้องรอหลักฐานพิสูจน์ แต่หากเป็นแนวทางหาความจริง นำไปพิจารณาได้ ผมจะยินดียิ่งครับ สุดท้ายนี้ ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ และขอเป็นกำลังใจ ให้ทีมงานผู้รับผิดชอบ ค้นหาความจริง อย่างละเอียด เพื่อมาตีแผ่บทเรียนราคาแพงครั้งนี้ และหวังเหมือนกับคนไทยทุกคนว่า ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายเสียที"