ผวา! ฝีดาษลิงยังมีกลุ่มเสี่ยงอีกมากในไทย เพราะอะไร น่ากลัวแค่ไหน เช็คเลย

04 ส.ค. 2565 | 01:11 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2565 | 09:35 น.

ผวา! ฝีดาษลิงยังมีกลุ่มเสี่ยงอีกมากในไทย เพราะอะไร น่ากลัวแค่ไหน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยมัดรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับฝีดาษลิง

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ข่าวล่าสุด !! ไทยพบฝีดาษลิงรายที่ 3 แล้ว ที่จังหวัดภูเก็ต

 

จากกรณีที่ไทยได้พบฝีดาษลิงมาแล้ว 2 ราย โดยรายแรกเป็นชายไนจีเรียที่จังหวัดภูเก็ต และรายที่สองเป็นชายไทยที่กรุงเทพมหานครนั้น

 

ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรคได้ออกมาแถลงว่า ได้พบฝีดาษลิงยืนยันเป็นรายที่ 3 ของประเทศไทย

 

เป็นชายเยอรมันอายุ 25 ปี เข้ามาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2565

 

มีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขึ้นทั้งที่อวัยวะเพศและนอกร่มผ้า ทำให้สามารถวินิจฉัยว่าเป็นฝีดาษลิงจริง

 

ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค เพื่อจัดทำไทม์ไลน์ และดูแลผู้สัมผัสเสี่ยงต่อไป

ฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสคนละตัวกับฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ แต่เป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกัน มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

 

  • พบฝีดาษลิงเป็นครั้งแรกในทวีปแอฟริกา เมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว และเป็นโรคประจำถิ่นเป็นหลัก

 

  • ในปีนี้ พบเคสแรกที่อังกฤษ และมีลักษณะพิเศษคือ ติดต่อกันเองโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับ การเดินทางไปทวีปแอฟริกา

 

  • มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 20,000 ราย ใน 75 ประเทศ เสียชีวิต 5 ราย

 

ฝีดาษลิงยังมีกลุ่มเสี่ยงอีกมากในไทย

 

  • ส่วนใหญ่ 98% จะเป็นผู้ชาย และจำนวนมาก เป็นชายที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกัน (MSM)

 

  • พบตุ่มที่เปลี่ยนแปลงไปจากนอกร่มผ้า มาเป็นในร่มผ้า บริเวณอวัยวะเพศและรอบทวารหนักมากขึ้น

 

  • ตรวจพบไวรัสในน้ำอสุจิได้ด้วย ทำให้มีความสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์
     
  • สามารถใช้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษหรือฝีดาษคนมาป้องกันฝีดาษลิงได้ และขณะนี้ประเทศไทยได้เตรียมจองซื้อไว้แล้ว นอกจากที่มีวัคซีนรุ่นเก่าที่องค์การเภสัชฯเก็บไว้ และมีคุณภาพดี 500,000 โดส

 

  • ใช้ยารักษาไวรัสชนิดอื่น มารักษาฝีดาษลิงได้ด้วย

 

  • อาการเด่นคือ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มที่มีลักษณะหลากหลาย ตั้งแต่ตุ่มผื่นแดง ตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง

 

กล่าวโดยสรุป 

 

ประเทศไทยมีผู้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นฝีดาษลิง 3 ราย โดยเป็นชาวต่างชาติ 2 ราย ชาวไทย 1 ราย

 

และคาดว่า น่าจะมีผู้ติดฝีดาษลิงที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอีกจำนวนหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตามการติดฝีดาษลิงนั้น ไม่ได้ติดง่ายแบบโควิด-19 แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะการติดโดยสัมผัสตุ่มในบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก จะทำให้การสืบค้นผู้สัมผัสเสี่ยงเป็นไปได้ยาก