เดินหน้า ปลุก "ชุมชนสู้เหล้า" ถอดบทเรียน 5 ชุมชน จ.สุโขทัย เป็นต้นแบบ

08 ส.ค. 2565 | 07:13 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2565 | 14:54 น.

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า หรือ สคล.เดินหน้าต่อเนื่องหนุน "ชุมชนสู้เหล้า" ตามแผนยุทธศาสตร์พื้นที่อำเภอบูรณาการ 5 ขยาย พร้อมถอดบทเรียน 5 ชุมชน จ.สุโขทัย เป็นแบบอย่างแหล่งเรียนรู้ขยายผลต่อไป

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องพร้อมสนับสนุนและติดตามผลการดำเนินงานของชุมชนสู้เหล้า ภายใต้กรอบแนวคิดการทำงานยุทธศาสตร์พื้นที่อำเภอบูรณาการ 5 ขยาย โดยล่าสุดนำคณะเครือข่ายงดเหล้าลงพื้นที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ศึกษาผลสำเร็จการทำงานของชุมชนคนสู้เหล้า พร้อมถอดบทเรียนเป็นแบบอย่างแหล่งเรียนรู้ขยายผล 

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า แนวคิดการดำเนินงานของ สคล. จะเน้น “พื้นที่อำเภอ” โดยมี “ชุมชนสู้เหล้า” เป็นแกนกลางและมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมในกลุ่มเด็กเยาวชนหน้าใหม่(ต้นน้ำ) การปรับสภาพแวดล้อม(กลางน้ำ) และการลดละเลิกนักดื่มหน้าเก่า(ปลายน้ำ) ภายใต้แผนกรอบยุทธศาสตร์ 5 ขยาย  ประกอบด้วย 

เดินหน้า ปลุก \"ชุมชนสู้เหล้า\" ถอดบทเรียน 5 ชุมชน จ.สุโขทัย เป็นต้นแบบ

  1. ด้านขยายความเข้มแข็งของนโยบายในระดับอำเภอ และเสริมพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่าย 
  2. ด้านขยายปรับสภาพแวดล้อมสร้างกระแส งานรณรงค์ งานบุญงานศพ ร้านค้าต้นแบบ ชุมชนต้นแบบ คนต้นแบบ และการประชาสัมพันธ์พร้อมกับการบังคับใช้กฎหมาย และการจัดการผู้ผลิต ผู้ขาย การส่งเสริมการตลาด 
  3. ด้านขยายการป้องกันนักดื่มหน้าเก่า สู่หน้าใหม่ ในกลุ่มเยาวชน นักเรียน รวมทั้งการเข้าใจในค่านิยมการดื่ม ความเชื่อในท้องถิ่นที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดเกิดนักดื่มหน้าใหม่ 
  4. ด้านขยายการบำบัดรักษาช่วยเหลือ ทั้งกลไกของราชการ และการช่วยเหลือโดยภาคประชาสังคม  เช่น สติบำบัด ใกล้บ้านสมานใจ , Family Club , กระบวนการชวน ช่วย เชียร์โดยชมรมคนหัวใจเพชร เป็นต้น 
  5. ด้านขยายการใช้ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางสะท้อนการดำเนินงานและสื่อสารสาธารณะ

 

เดินหน้า ปลุก \"ชุมชนสู้เหล้า\" ถอดบทเรียน 5 ชุมชน จ.สุโขทัย เป็นต้นแบบ

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ศึกษาดูงานของเครือข่ายงดเหล้า จ.สุโขทัย ในครั้งนี้ มีการถอดบทเรียนในชุมชน 5 แห่ง ของ จ.สุโขทัย ประกอบด้วย

 

  1. ชุมชนบ้านศรีสังวร ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก
  2. บ้านเจ็ดธรรมาสน์ ต.ในเมือง  อ.สวรรคโลก
  3. บ้านริมธารา ต.เขาแก้วศรีสมบูรณ์ อ.ทุ่งสเลี่ยม
  4. บ้านป้อม ต.บ้านป้อม อ.คีรีมาศ
  5. บ้านท่าด่าน ต.ป่างิ้ว อ.ศรีสัชนาลัย     

เดินหน้า ปลุก \"ชุมชนสู้เหล้า\" ถอดบทเรียน 5 ชุมชน จ.สุโขทัย เป็นต้นแบบ

ผจก.สคล. กล่าวด้วยว่า ทั้ง 5 ชุมชนมีผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนำ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกบ้าน ซึ่งทุกคนต่างก็เคยประสบปัญหาผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่อยากให้ลูกหลานหรือคนในชุมชนต้องได้รับผลกระทบซ้ำๆเดิมๆ

 

เช่น ผู้ใหญ่บรรเจิด บ้านท่าด่าน และ ผู้ใหญ่ตา บ้านป้อม ก็เคยเป็นนักดื่มเมาหัวราน้ำ แต่ด้วยเห็นปัญหามากขึ้นและมีประชาคมงดเหล้ามาชักชวนให้เปลี่ยนเส้นทางกลับตัวกลับใจใหม่ หันมาพัฒนาชุมชนโดยจะเริ่มจากรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาก่อน

 

จากนั้นจึงนำไปสู่กิจกรรมในเชิงบุญประเพณีอย่างต่อเนื่องทุกปี เมื่อชวนเขาเลิกเหล้าได้แล้วก็ต้องต่อยอดไปถึงเรื่องของการส่งเสริมให้มีรายได้ ไม่ใช่ชวนเลิกเหล้าอย่างเดียวแล้วจบ

 

เช่น เขามีฝีมือการทำผลิตภัณฑ์ของใช้ หรืออาหาร หรือปลูกพืชผักจำหน่าย เป็นการส่งเสริมอาชีพคนในชุมชนโดยดูจากบริบทของท้องถิ่นว่าถนัดอะไรก็ส่งเสริมสิ่งนั้น เมื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนขึ้นมาแล้วก็ช่วยด้านการตลาดเพื่อให้มีรายได้ที่ยั่งยืน

 

ขณะเดียวกันก็รณรงค์เพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ไปด้วย โดย 5 ชุมชนนี้ สามารถเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นแนวทางให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้ ในการรณรงค์ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องมองในหลายมิติ ไม่ใช่มิติสุขภาพอย่างเดียว เครือข่ายงดเหล้าพยายามทำงานเพื่อไปให้ถึงจุดที่ว่าเราไม่ต้องกังวลแล้วว่าเขาเลิกเหล้าแล้วจะกลับไปดื่มอีกหรือไม่ เพราะเราเชื่อว่าเมื่อเขามีวิจารณญาณได้เองแล้วว่าเหล้าไม่ได้มีประโยชน์เขาก็จะไม่ดื่มเองโดยปริยาย

 

ด้านนางสายปิ่น  แก้วเกตุ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2  ต.เขาแก้วศรีสมบูรณ์ อ.ทุ่งสเลี่ยม จ.สุโขทัย ผู้นำชุมชนคนสู้เหล้าบ้านริมธารา  กล่าวว่า  ปัจจัยที่ทำให้การรณรงค์งดเหล้าของชุมชนประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ ทีมงานจิตอาสาที่มาทำงานด้วยใจและมีการสื่อสารที่ชัดเจนต่อชุมชน คณะทำงานจะประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านเลยว่า สิ่งที่เราจะทำมีจุดประสงค์อะไร เพื่ออะไร แล้วจะได้อะไรขึ้นมา เดิมชุมชนเราเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท อาชญากรรม ยาเสพติด อันเนื่องมาจากแอลกอฮอล์ เรานำปัญหามาเป็นตัวตั้งในการทำงาน เริ่มจากเทศกาลงดเหล้าเข้าพรรษาก่อน ขยายสู่งานบุญประเพณีอื่น ๆ เดิมงานศพในชุมชนเรามีการดื่มกันเยอะมาก

นางสายปิ่น  แก้วเกตุ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2  ต.เขาแก้วศรีสมบูรณ์ อ.ทุ่งสเลี่ยม จ.สุโขทัย

แต่ปัจจุบันงานศพไม่มีคนดื่มเหล้าเลย ต่อยอดจากลดเหล้าในส่วนของการส่งเสริมอาชีพ เช่นทำแหนมหมู เราก็ช่วยกันทำการตลาดให้ด้วยไปปรชุมที่ไหนก็เอาไปขายให้ เพราะที่ผ่านมากลุ่มอาชีพที่สร้างขึ้นแล้วล้มเหลวเพราะขาดการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง

 

“ในการทำงานเรานำประสบการณ์ตรงของครอบครัวตนเองเป็นตัวอย่างด้วย สามีและพ่อดื่มเหล้าหนักมาเป็นระยะเวลา 40 กว่าปี แต่สามารถเลิกได้เพราะครอบครัว โดยเฉพาะลูกสาวที่เห็นพ่อดื่มเหล้าหนักและอาละวาด เอะอะโวยวายทุกครั้ง ทำให้ลูกอายกลายเป็นคนเก็บตัวไม่กล้าเข้าสังคม เราเป็นแม่เมื่อรู้สาเหตุก็ตกใจจึงคุยกับพ่อเขา ๆ อยากให้ลูกมีความสุข ก็จะค่อยๆห่างเหล้าและเลิกในที่สุด ซึ่งเราสามารถพูดได้เลยว่าครอบครัวเราก็มีคนติดเหล้าหนักมากแต่ยังเลิกได้และครอบครัวกลับมามีความสุข  อยากให้กำลังใจครอบครัวที่มีปัญหาแบบเดียวกันว่าคุณก็สามารถทำได้” นางสายปิ่นกล่าว 


สอดรับกับ นายสมบัติ ตาละสา อายุ 50 ปี คนหัวใจเพชร  ม.6 บ้านเจ็ดธรรมาสน์ ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก ที่เห็นความสำคัญของครอบครัวโดยเฉพาะลูกชายที่เป็นแรงบันดาลใจในการเลิกดื่ม และตัดสินใจหักดิบเลิกเหล้าทั้งที่ดื่มมาตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี โดยเล่าว่า ตอนลูกชายอยู่อนุบาล 3  เขาเดินมาพูดว่า เมื่อไหร่พ่อจะเลิกเหล้า

เดินหน้า ปลุก \"ชุมชนสู้เหล้า\" ถอดบทเรียน 5 ชุมชน จ.สุโขทัย เป็นต้นแบบ

ผมสะท้อนใจไม่อยากให้ลูกจำภาพพ่อแบบนั้น จึงหักดิบเลิกเหล้าในวันรุ่งขึ้นเลย เลิกตอนอายุ 25 ปีช่วงแรกที่มีความอยากดื่ม ก็หาวิธีดึงความสนใจออกเหล้าโดยการเคี้ยวหมากฝรั่งบ้าง ดื่มนมถั่วเหลืองบ้าง และออกกำลังกายไปเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆบ้าง เมื่อลูกชายเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่พ่อไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่ ลูกชายผมก็ไม่แตะ 2 สิ่งนี้เลย ในการรณรงค์เลิกเหล้า ผมก็เอาตัวเองเป็นตัวอย่างให้กับน้องๆ ในการชวน ชม เชียร์ให้เลิกเหล้า ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ทำอย่างไรให้ใจเขาอยากเลิกและเลิกได้ ซึ่งครอบครัวเป็นกำลังใจที่สำคัญที่สุด


ด้านนางสาวเมธานี กรองแก้ว (น้องเมย์) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มรภ.อุตรดิตถ์ และในฐานะลูกหลานชาวสุโขทัย กล่าวต่อบทบาทของเครือข่ายเยาวชนรณรงค์ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า การเข้ามาร่วมทำงานอยากเห็นชุมชนของตนเป็นสังคมที่มีความสุข โดยร่วมกับเพื่อนๆออกไปรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตามเทศกาลต่าง ๆ ตามร้านค้าก็จะไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบในเรื่องของข้อกฎหมายห้ามขายเวลาไหนหรือห้ามขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อที่ร้านค้าจะได้ไม่ทำผิดกฎหมาย    

นางสาวเมธานี กรองแก้ว (น้องเมย์) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มรภ.อุตรดิตถ์

นอกจากนี้ เราก็จะช่วยกันทำเพจ SDN สุโขทัย ทำสื่อออนไลน์หรืออินโฟกราฟฟิก ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเยาวชนด้วยกัน ให้ทราบถึงโทษของการดื่ม ทำสื่อออกไปบ่อย ๆ เพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่เราก็ลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่างๆ ในเขตเทศบาลด้วย โดยในเครือข่ายเยาวชนจะมี กศน.เป็นตัวกลางขับเคลื่อน ในการดึงเยาวชนมาร่วมทำงาน ซึ่งก็ค่อยๆขยายเครือข่ายออกไปแบบเพื่อนชวนเพื่อน อนาคตภาพรวมของอำเภอเราก็จะเป็นสังคมที่มีความสุขได้ เมื่อทุกฝ่ายร่วมกันคิดร่วมกันทำ ทั้งด้านความปลอดภัยทางถนน ด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านสังคมและสุขภาพ   


อย่างไรก็ดี ภายหลังการศึกษาดูงานและถอดบทเรียนจากชุมชนคนสู้เหล้าใน 5 ตำบล ครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการรณรงค์ลดละเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของทั้ง 5 ชุมชน ได้ให้ความสำคัญในทุกด้าน ทั้งเรื่องของความเป็นอยู่โดยต้องมีอาชีพรายได้ คนในครอบครัวมีความปลอดภัย สุขภาพดีและมีความสุข

 

ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับเยาวชนโดยดึงเข้ามาทำงานด้านการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ใช้ศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในการสื่อสารถึงเพื่อนวัยเดียวกัน ผ่านเครือข่ายของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนงานเยาวชน  

 

พร้อมกันนี้เครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย ตาก นครสวรรค์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์  ยังได้ เวิร์คช้อประดมความคิดพร้อมนำเสนอภาพรวมการขับเคลื่อนประชาคมงดเหล้าของแต่ละจังหวัด และแผนดำเนินการยกระดับกิจกรรมขยายสู่ระดับอำเภอตามยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้