นกชนหิน กลายเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดล่าสุดของไทยที่ถูกขึ้นทะเบียนอยู่ในลำดับที่ 20 ตาม ประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม นั่นก็คือ นกชนหิน (Rhinoplex Vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด
ปัจจุบันพบว่า นกชนหิน ในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยมากไม่เกิน 100 ตัว และมีปัจจัยคุกคามสูง เนื่องจากมีโหนกที่ตัน และสวยงามเหมือนลักษณะของงาช้างซึ่งมีสีแดงคล้ายสีเลือด ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดค้าสัตว์ป่าทำให้เกิดการลักลอบล่านกชนหินอย่างมาก เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แม้ว่าที่ผ่านมานั้น จะกำหนดให้ นกชนหิน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 410 แล้วก็ตาม
จากข้อมูล มูลนิธินกเงือกแห่งประเทศไทย ได้เผยถึงปัญหาการล่านกชนหินในปัจจุบันว่ามี 2 ลักษณะ คือ ล่าเพื่อเอาลูกซึ่งฤดูกาลทำรังจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม -พฤษภาคม และ ถูกนายพรานล่าเพื่อเอาโหนก
ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2562 มีคดีการกระทำผิดด้านสัตว์ป่า กรณีของ "นกชนหิน" จำนวน 3 คดี จับผู้ต้องหาได้จำนวน 5 คน นกชนหินที่ยึดมาได้ยังมีชีวิต จำนวน 3 ตัว เป็นซาก 1 ตัว
ทั้งนี้ องค์กร TRAFFIC ได้ทำการสำรวจติดตามและศึกษาเพื่อประเมิน และประมาณขนาดของการค้านกชนหิน Rhinoplax vigil รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่น ๆ บนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือ เฟซบุ๊ก ทั้งในกลุ่มเปิดและกลุ่มปิดในประเทศไทยโดยทุกกลุ่มเป็นกลุ่มที่เสนอขายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าต่าง ๆ
ข้อมูลที่พบจากการสำรวจติดตามตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 - เมษายน 2562 พบการโพสต์เสนอขายอย่างน้อย 236 โพสต์ที่เสนอขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้นใน 32 กลุ่มจากทั้งหมด 40 กลุ่มที่ทำการสำรวจติดตาม หากแบ่งหมวดหมู่ของชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกที่ถูกเสนอขายออกเป็น 8 หมวดใหญ่ ได้แก่ โหนกหัว, จี้ห้อยคอ, แหวน, สร้อยคอ, กำไลข้อมือ, หัวเข็มขัด, นกสตาฟ และชิ้นส่วนย่อยอื่น ๆ
นกชนหิน (อังกฤษ: Helmeted hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhinoplax vigil)
เป็นนกขนาดใหญ่ในวงศ์นกเงือก พบในประเทศไทย มาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว จัดเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Rhinoplax โหนกบนหัวมีน้ำหนักประมาณ 11% ของน้ำหนักตัว โหนกนี้ต่างจากของนกเงือกชนิดอื่น ๆ ตรงที่มีลักษณะทึบตันแทบทั้งชิ้น ซึ่งชาวปูนันเชื่อว่า นกชนหินตัวใหญ่เป็นผู้พิกษ์แม่น้ำที่แบ่งกั้นระหว่างความเป็นและความตาย สำหรับตัวผู้จะใช้โหนกนี้เพื่อการต่อสู้แบบเอาหัวชนกัน
นกชนหิน ถือเป็นนกเงือกชนิดหนึ่งที่มีสายพันธุกรรมเก่าแก่ยาวนานถึง 45 ล้านปีมาแล้ว มีลักษณะเด่นกว่านกเงือกชนิดอื่น ๆ ตรงที่สันบนปากมีขนาดใหญ่และหนา เนื้อในสีขาวตันคล้ายงาช้าง นกชนหิน มีจะงอยปากที่ยาวและมีขนหางพิเศษคู่หนึ่งซึ่งจะงอกยาวเลยขนหางเส้นอื่น ๆ ออกไปมากถึง 50 เซนติเมตรอย่างเห็นได้ชัด
ลักษณะของนกชนหิน
นกชนหินตัวผู้
นกชนหินตัวเมีย
อุปนิสัย
ถิ่นอาศัยและการกระจายพันธุ์
นกชนหิน เป็นนกประจำถิ่นที่พบในป่าดิบชิ้นระดับต่ำ พบตั้งแต่แถบเทือกเขาตะนาวศรีลงมาทางใต้จนถึงประเทศมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว สำหรับประเทศไทยกระจายเฉพาะตั้งแต่ จ.ชุมพร จนถึง จ.นราธิวาส พบเป็นกลุ่มขนาดเล็กในป่าดิบชื้นระดับต่ำ โดยมีกลุ่มประชากรหลักอยู่ในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง
ในประเทศไทย นกชนหินมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และอนุสัญญาไซเตสจัดเอาไว้ในบัญชีที่ 1 นกชนหินถูกล่าอย่างหนักเพื่อเอาสันบนจะงอยปากบนไปแกะสลักทำเป็นเครื่องใช้และเครื่องประดับที่มีคุณค่าสูงมาก และจากการสูญเสียแหล่งอาศัย จำนวนประชากรจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในทุกบริเวณที่อาศัย
นอกจากนี้ยังพบว่า มีนกชนหินหลงเหลืออยู่ในป่าของประเทศไทยอยู่น้อยกว่า 100 ตัว และพบชิ้นส่วนของนกเงือกอย่างน้อย 546 ชิ้น ซึ่งส่วนมากเป็นโหนกของนกชนหิน ได้ถูกประกาศขายผ่านทางหน้าเฟซบุคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ที่มา มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก