กอนช.เตือน เหนือ อีสาน ตอ. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง

12 ก.ย. 2565 | 02:15 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2565 | 09:16 น.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ วันนี้ ถึง13 ก.ย.65 เตือนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ภาคเหนือ อีสาน และภาคตะวันออก

วันนี้ (12 ก.ย.65 ) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 กันยายน 2565 ดังนี้

 

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

 

1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2565 ลงวันที่ 11 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 11 – 13 กันยายน 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำสาย กก วัง ยม น่าน แควน้อย ป่าสัก เจ้าพระยา เลย ชี มูล นครนายก ปราจีนบุรี บางปะกง ระยอง จันทบุรี และตราด

 

และเฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 10 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา อ่างเก็บน้ำแม่มอก บึงบอระเพ็ด อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำมูลบน อ่างเก็บน้ำบางพระและอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ทั่วประเทศ

 

 

1.2 ประกาศศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2565 ลงวันที่ 10 กันยายน 2565 แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำมูล เนื่องจากสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน พบว่ามีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศลเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์ในช่วงวันที่ 9 – 12 กันยายน 2565 จะมีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ประสานให้กรมชลประทานพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศล อยู่ในเกณฑ์ 1,100 – 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมวลน้ำจะไหลไปรวมกับแม่น้ำชีและลำน้ำสาขา ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์ 2,500 – 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยในช่วงวันที่13 – 18 กันยายน 2565 ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยไม่ส่งผลกระทบกับพนังกั้นน้ำที่ได้เตรียมป้องกันไว้แล้ว

 

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565

 

วันที่ 11 ก.ย. 65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร ณ ป้อมมหากาฬ คลองโอ่งอ่าง ในการเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ สถานีสูบน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำที่ไหลมาจากทางตอนบน โดยได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเตรียมพร่องน้ำไว้รองรับปริมาณฝนที่จะตกในพื้นที่

3. สถานการณ์น้ำท่วม

 

ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในวันที่ 4 –10 ก.ย. 65

 

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 21 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน สุโขทัย ลพบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และ ฉะเชิงเทรา