วันนี้ (12 ก.ย.65) คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้จัดประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม
ดร.เอนก กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้ขับเคลื่อนและผลักดันให้มีแนวทาง ทั้งด้านกฎหมาย นโยบาย มาตรการที่หลากหลาย เพื่อปฏิรูประบบการอุดมศึกษาให้เท่าทันโลก และความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไป
หนึ่งในแนวทางสำคัญที่คณะทำงานในกระทรวง อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน คือ การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) ที่เป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของการจัดการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานเดิม เพื่อจัดการศึกษารูปแบบใหม่ สร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษา มุ่งเน้นผลิตคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิต (Demand Driven) เท่าทันความต้องการของประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติ 4 หลักสูตรแรก ที่จะเริ่มนำร่องจัดการเรียนการสอนตามแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ได้แก่
1.หลักสูตรการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ นำโดยวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอีก 6 แห่ง และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันพระบรมราชชนก ตั้งเป้าผลิตกำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ระดับผู้ประกอบโรคศิลปะ จำนวน 15,000 คน ภายใน 10 ปี
2.หลักสูตรการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur นำโดย International School of Management (ISM) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ Harbour.Space University ประเทศสเปน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (Thaichamber) และบริษัทต่างๆ ตั้งเป้าผลิตกำลังคนที่มีความรู้ขั้นแนวหน้า (frontier knowledge) ด้านเทคโนโลยี จำนวน 400 คน ภายใน 7 ปี
3. หลักสูตรการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล นำโดยมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอีก 6 แห่ง ตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล 1,880 คน ภายใน 8 ปี
และ 4. หลักสูตรการผลิตกําลังคนศักยภาพสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และแนวคิดเชิงนวัตกรรม นำโดยวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชวิทย์) สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และสถาบันอุดมศึกษา ตั้งเป้าผลิตกําลังคนทักษะสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์ และแนวคิดเชิงนวัตกรรม 175 คน ภายใน 9 ปี โดยรวมแล้วจะสร้างบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในด้านต่างๆ ได้ทั้งสิ้นกว่า 17,455 คน
“ในการจัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์ที่มุ่งเน้นให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา ควรต้องมีแนวทางการทำงานที่เป็น Top-down จากบนลงล่างมากขึ้น ต้องมองในประเด็นที่สำคัญที่ควรเร่งดำเนินการและทำในเรื่องนั้นอย่างจริงจัง รวดเร็ว ขจัดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการทำงานแบบเดิม การออกแบบหลักสูตร เราต้องออกแบบจากจุดแข็งของเรา เป้าหมายต้องชั้นเจนว่าจะผลิตคนชั้นเลิศ ให้สามารถออกไปทำงานได้ ผลิตคนเก่งได้ในระยะเวลาสั้นลง
ที่สำคัญต้องเอาเด็กเข้ามาเรียนให้เร็วที่สุด เพราะในปัจจุบัน นวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจากเด็ก ดังนั้นการจะฝึกด้านการวิจัย ก็ควรต้องฝึกตั้งแต่เด็ก ให้มีระยะเวลาในการเรียนที่สั้นกว่าการเรียนตามระบบปกติ เน้นการเรียนกับการปฏิบัติจริง และผลงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในการวิจัยจะต้องสร้างผลกระทบให้เกิดความก้าวหน้ากับบ้านเมืองได้จริง” ดร. เอนก กล่าว
ดร. เอนก ยังได้เน้นย้ำว่า ทั้ง 4 หลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติ เป็นหลักสูตรการจัดการศึกษาที่เน้นการผลิตกำลังคนในสาขาที่ประเทศไทยขาดแคลน โดยมุ่งผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงในหลายด้าน ที่นอกจากจะช่วยรองรับและตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในการพัฒนาประเทศแล้ว ยังตอบโจทย์โลกของธุรกิจสมัยใหม่ด้วย ซึ่งการจัดหลักสูตรเหล่านี้ในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดในการจัดการศึกษาได้ เพื่อนำไปสู่การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นสมรรถนะของผู้เรียนอย่างแท้จริง
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะเลขานุการการประชุมฯ ได้กล่าวสรุปถึง ความก้าวหน้าการพิจารณาข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ซึ่งล่าสุดมีข้อเสนอฯ ที่ได้รับการอนุมัติข้อเสนอเชิงหลักการ จากคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ประธานคณะทำงานฯ รวมแล้ว 8 ข้อเสนอ ได้แก่
1. ข้อเสนอการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์
2. ข้อเสนอการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล (AI)
3. ข้อเสนอการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur (Harbour.Space)
4. ข้อเสนอแพลตฟอร์มส่งเสริมการผลิตกำลังคนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
5. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมบูรณาการระบบการผลิต (SI)
6.ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ)
7. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบองค์รวม (หลักสูตรสองภาษา)
และ 8. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบินนานาชาติ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอการจัดการศึกษาที่เสนอเข้ามาอีกรวมกว่า 169 ข้อเสนอ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจากคณะทำงานฯ ทั้งในรูปแบบความร่วมมือระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัย ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนผู้ใช้บัณฑิต ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านวิชาชีพ รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศด้วย ซึ่งในอนาคตจะมีข้อเสนอฯ หลักสูตรอื่นๆ ที่เริ่มทยอยอนุมัติการนำไปใช้จริง เพื่อให้ครอบคลุมการผลิตและพัฒนากำลังคน ปลดล็อกข้อจำกัดทางการศึกษาในแง่มุมต่างๆ ได้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ โดยรวมให้ความเห็นว่า ในการจัดทำหลักสูตรจะต้องมุ่งเป้าไปที่ประสิทธิผลของหลักสูตรให้เห็นผลอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงได้ อีกส่วนหนึ่งคือ ตัวชี้วัดความสำเร็จของหลักสูตรควรมีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายของประเทศ เพื่อให้เห็นว่าหลักสูตรที่เกิดขึ้นใหม่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ควรมองถึงการทำหลักสูตรร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานในต่างประเทศด้วย