ตั้งศูนย์สจล. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก เขตประเวศ

13 ก.ย. 2565 | 02:13 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2565 | 09:38 น.

ผู้เชี่ยวชาญ สจล. ตั้งศูนย์สจล. เฝ้าระวังน้ำท่วม กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบเร่งด่วน พร้อมเปิดช่องทาง KMITL Tweet App แจ้งเหตุ วางแผนเชิงรุกแก้ปัญหา

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ลงพื้นที่สำรวจน้ำท่วมขังในสจล. และบริเวณโดยรอบสจล. วางแผนเชิงรุกแก้ปัญหาน้ำท่วมเร่งด่วน พร้อมตั้ง “ศูนย์สจล. เฝ้าระวังน้ำท่วมฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก” แก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมช่วยเหลือประชาชนโดยรอบ และเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และประสานงานเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ทางด้านนักศึกษาเรียนออนไลน์ 1 สัปดาห์ ตลอดจนได้เปิดสายด่วน 093-563-7740 หรือ KMITL Tweet App https://tweet.kmitl.ac.th/ หรือ Facebook: ศูนย์สจล. เฝ้าระวังน้ำท่วม ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก เพื่อแจ้งขอความช่วยเหลือ 

  ศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
รศ. ดร.คมสัน กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่สำรวจปริมาณน้ำท่วมขังภายใน และโดยรอบสถาบันฯ พร้อมกับทีมสำนักงานบริหารทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อมว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในคลองประเวศฝั่งที่ไหลมาทางลาดกระบัง-หัวตะเข้แตะระดับวิกฤตที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเมื่อปี 2554 ระดับน้ำอยุ่ที่ +0.71 

แต่หลังจากไปสำรวจเมื่อเช้าพบว่าระดับน้ำอยุ่ที่ +0.81 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังสูงบริเวณพื้นที่ลาดกระบังโดยรอบ ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือนข้าวของเสียหาย ไม่สามารถสัญจรไปไหนมาไหนได้

โดยในเบื้องต้น สจล. แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เร่งสูบน้ำอย่างเต็มกำลังเพื่อลดระดับปริมาณน้ำให้กลับมาเป็นปกติ แต่ทางแก้ที่มีประสิทธิภาพ คือ การเปิดประตูระบายน้ำ พร้อมประเมินสถานการณ์น้ำของกรุงเทพฯ ประกอบกัน ซึ่งหากประตูระบายน้ำไม่เปิด และมีฝนตกลงมาอีก น้ำจะท่วมขังสูงอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังพบว่า สถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก จากนี้ต้องจับตาดูทั้งปริมาณน้ำฝน น้ำเหนือที่กำลังจะลงมา และน้ำทะเลหนุน รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการเครื่องปั๊มน้ำให้มีประสิทธิภาพที่สุด

ตั้งศูนย์สจล. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก เขตประเวศ  
สจล. ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน จัดตั้งศูนย์สจล. เฝ้าระวังน้ำท่วม ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออกเพื่อวางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมใน สจล. และบริเวณกรุงเทพฯ ตะวันออก โดยออกสำรวจทุกจุดสำคัญ เพื่อวางแผนแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยมีภารกิจสำคัญดังนี้

ตั้งศูนย์สจล. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก เขตประเวศ

  • แจ้งเตือนภัยน้ำท่วม ติดตามและเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมในสถาบันฯ และชุมชนโดยรอบ
  • เปิดช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์ ผ่านทางช่องทางสายด่วน 093-563-7740 หรือ KMITL Tweet App https://tweet.kmitl.ac.th/ หรือ Facebook: ศูนย์สจล. เฝ้าระวังน้ำท่วม ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก
  • เป็นสื่อกลาง ประสานงานกับชุมชนและส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือและจัดการปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่
  • แจกถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่
  • อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับเจ้าหน้าที่ บุคลากร นักศึกษา สจล. โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศ กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ให้ความ
  • อนุเคราะห์จัดส่งรถบรรเทาสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ทหารเข้าช่วยเหลือ
  • ดูแลให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ในรูปแบบ Telehealth หรือแพทย์ทางไกล โดยคลีนิค สจล.
  • ดูแลป้องกันรักษาพื้นที่ ช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง         

จากการลงสำรวจพื้นที่เบื้องต้นพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในการจัดหาถุงทรายกั้นน้ำ ของอุปโภคบริโภค และห้องน้ำชั่วคราว ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคสิ่งของได้ที่ ศูนย์สจล. เฝ้าระวังน้ำท่วม ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก หรือบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เลขที่บัญชี 088-300012-2

      รศ. ดร. สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)      
นอกจากนี้ รศ. ดร. สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้กล่าวถึงความช่วยเหลือในมิติต่างๆ ว่า สจล. พร้อมที่จะรวมรวมองค์ความรู้ความสามารถจากทุกคณะ บูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างโครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน อาทิ โครงการหมอไฟ ที่เตือนภัยและช่วยเหลือเรื่องของไฟฟ้าขณะประสบเหตุน้ำท่วม จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ หรืออุปกรณ์แจ้งเตือนระดับน้ำ จากจากภาควิชาวิศวกรรมโยธาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จะเข้าไปเตือนภัย และช่วยเหลือประชาชน

  ตั้งศูนย์สจล. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก เขตประเวศ
รศ. สุพจน์ ศรีนิล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกายภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน สจล. และผู้อำนวยการศูนย์สจล. เฝ้าระวังน้ำท่วม กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก กล่าวว่า สจล. ได้ให้นักศึกษาเรียนออนไลน์เพื่อความปลอดภัย รวมถึงยังมีรถรับส่งผู้ที่จำเป็นต้องเข้ามาใน สจล. จากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีลาดกระบัง พร้อมทั้งส่งทีมงาน สจล. เข้าไปติดตั้งที่วัดระดับน้ำตามชุมชนรอบ สจล. โดยขอให้ผู้นำชุมชนแจ้งระดับน้ำเข้ามาทางศูนย์เพื่อเตรียมการรับมือกับระดับน้ำต่อไป

 
ด้านพล.อ.ต. ประภาส สอนใจดี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศได้รับการติดต่อจาก สจล. ให้เข้าช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งทางกองทัพฯ ยินดี และพร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นรถชานต่ำ รถขนย้าย ลำเลียงคน หรืออุปกรณ์เข้าออกในพื้นที่ รวมทั้ง บุคลากรทหารอากาศ ซึ่งที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้รับการติดต่อให้เข้าพื้นที่ลำเลียงผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น ขอให้ประชาชนวางใจ หากต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน สามารถติดต่อผ่านศูนย์สจล. เฝ้าระวังน้ำท่วม ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก ได้ทันที

 
จากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ สจล. ปรับการเรียนการสอนวิชาการบรรยายและกิจกรรมวิชาการอื่นๆ เป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมดตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 - วันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2565 เพื่อให้การเรียนการสอนมีความต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รายวิชาปฏิบัติและกิจกรรมอื่นที่จำเป็นต้องเข้ามาใน สจล. ให้ดำเนินการตามดุลยพินิจของคณบดี โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของนักศึกษาเป็นสำคัญ ซึ่ง สจล. หวังว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะกลับเป็นปกติโดยเร็ว และสามารถเปิดให้มีการเรียนการสอนแบบออนไซต์ได้ภายในสัปดาห์หน้า