หลังจาก ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 หรือ ศบค. ชุดใหญ่ เห็นชอบการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด ทำให้ต้อง ยุบศบค. อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป รูดม่านการทำงานมายาวนานกว่า 2 ปีครึ่ง
อ่านข่าว : รูดม่าน ศบค. ทำงาน 2 ปีครึ่ง 933 วัน ชมบรรยากาศสุดท้าย ก่อนส่งไม้ต่อ สธ.
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับ “หมอทวีศิลป์” หรือ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. ซึ่งนับเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญสำหรับการทำงานทางด้านการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ของ ศบค. ซึ่งมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่หลายคนยังไม่รู้
ล่าสุด ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสารของ ศบค. ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ชื่อ Warat Karuchit ระบุถึงการทำงานของ “หมอทวีศิลป์” ไว้ดังนี้
บางคนอาจจะคิดว่า พี่หมอทวีศิลป์ ได้เป็นโฆษก ศบค. แล้วโด่งดัง มีชื่อเสียง มีคนชื่นชอบ ชีวิตน่าอิจฉา แต่เบื้องหลังแล้ว มีหลายอย่างที่คนทั่วไปไม่รู้ เพราะพี่หมอไม่เคยออกมาโพสต์หรือให้สัมภาษณ์ในเรื่องเหล่านี้เลย เช่น
1. พี่หมอทำงาน 7 วันไม่เคยหยุดตลอดช่วงโควิด โดยปีสองปีแรก ที่มีแถลงทุกวัน ก็ต้องประชุมทุกวัน วันละอย่างน้อย 4-5 รอบ เช้าตรู่ที่ สธ. แล้วมาต่อที่ ศบค. ชุดเล็กที่ทำเนียบ แล้วต่อด้วยทีม strategic communication แล้วก็เตรียมกับทีมโฆษก เลือกประเด็น แล้วก็แถลงข่าว และส่วนใหญ่ช่วงบ่ายหลังแถลง ก็ต้องกลับไปประชุมต่อที่ สธ. ช่วงหลังพี่หมอต้องไปตรวจราชการที่อีสาน ก็ต้องบินไปบินมาตลอด
2. การทำงานโควิด 7 วันของพี่หมอ ทำให้ไม่ได้ไปออกตรวจที่ รพ.เอกชน สูญเสียรายได้ไปพอสมควร
3. พี่หมอไม่รับงานสัมภาษณ์ งานโฆษณา ใด ๆ ทั้งสิ้น ที่มีคนติดต่อมาจำนวนมาก ทิ้งรายได้ไปไม่น้อย เพราะพี่หมอบอกว่า "ถ้ารับหนึ่งที่ ก็ต้องรับทั้งหมด" ซึ่งเป็นไปไม่ได้
4. ช่วงที่สถานการณ์ดี ก็มีคนชื่นชม แต่ช่วงที่สถานการณ์ไม่ดี พี่หมอกลายเป็นเป้าในการบูลลี่ ด้อยค่า ด่าหยาบคายต่าง ๆ นา ๆ รวมไปถึงครอบครัวที่ได้รับผลกระทบด้วย จนบางคืนก็นอนไม่หลับ และเคยคิดว่าจะขอลาออกจากการทำหน้าที่
5. บางครั้งมีการบูลลี่หนักถึงขนาดขู่ฆ่า ขู่อาฆาต ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครโดนก็ต้องรู้สึกแย่ทั้งนั้น
6. แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเครียดหรือเร่งด่วนแค่ไหน เช่น ข้อมูลมาก่อนแถลงไม่กี่นาที หรือประชุม ศบค. ใหญ่จบก่อนกำหนดแถลงแค่ไม่กี่นาที พี่หมอก็ไม่เคย "สติแตก" หรือเสียอาการให้เราเห็นเลย และพี่หมอจะเป็นคนตัดสินใจเองคนสุดท้ายทุกครั้ง ว่าจะพูดเรื่องอะไร ไม่พูดเรื่องอะไร ถามว่าเคยมีพูดผิดไหม ตอบได้เลยว่ามี 555 แต่ด้วยความนิ่ง และออร่าของความมั่นใจของพี่หมอ ทำให้พวกเราก็ไม่สติแตกหรือกังวลไปด้วย และทำให้การแถลงจบลงด้วยดีทุกครั้ง (ผิดก็ค่อยมาพูดชี้แจงในครั้งต่อไปเท่านั้นเอง)
7. เอาจริง ๆ หน้าที่ผมคือผู้ช่วยโฆษก ศบค. ในฐานะนักวิชาการด้านการสื่อสาร แต่ว่าตั้งแต่เริ่ม พี่หมอก็ไม่ต้องการคำแนะนำในการสื่อสารอะไรเลย ทำได้อย่างดีเยี่ยมและเป็นธรรมชาติแบบไม่ต้องซ้อม ไม่ต้องแนะนำเลย ผมก็เลยช่วยเรื่องหาข้อมูลและประเด็นเสริม และช่วยสื่อสารนอกรอบมากกว่า
8. เวลามีคนแซวเรื่องความดัง พี่หมอก็พูดอยู่เสมอ ๆ ว่า "อย่าไปยึดติด ของแบบนี้มันมาแล้วก็ไป เดี๋ยวคนก็ลืม"
9. พี่หมอเป็นคนถ่อมตัวและสุภาพอย่างมาก และติดดิน กินข้าวกล่องกับพวกเราตลอดไม่เคยบ่น และอารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน ชอบแซวทีมงาน และคิดถึงความรู้สึกคนอื่นและหาทางช่วยผู้อื่นเสมอ (รวมทั้งผมด้วย) สมกับที่เป็นจิตแพทย์
10. นอกจากนั้น อีกสิ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้ก็คือ เบื้องหลังข้อมูลที่พี่หมอแถลงนั้น ผู้ที่เป็นแบ็คอัพสำคัญอย่างยิ่งมาตลอดตั้งแต่ต้นจนวันสุดท้าย คือหมอติ๋ง (พญ.สุมนี ที่มีบางครั้งช่วงหลังก็ออกมาแถลงเอง) ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยง กรมควบคุมโรค ที่เป็นคนเก่งมาก ๆ แม่นข้อมูลทุกอย่าง หาข้อมูลได้ทุกเรื่อง ประสานงานได้ 360 องศา และลุยงานหนักตลอดทั้งช่วงโควิดไม่แพ้พี่หมอเลย และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของการสื่อสารออนไลน์ของกรมควบคุมโรค ที่เพิ่งได้รับรางวัลโซเชียลอวอร์ดไปด้วย
สิ่งเหล่านี้คือส่วนเล็ก ๆ ที่ผมเคยได้ร่วมงานกับพี่หมอทวีศิลป์ และผมเชื่อว่าเราโชคดี ที่มีพี่หมอทวีศิลป์ มาเป็นโฆษก ศบค. และได้หมอติ๋งมาเป็นทีมซัพพอร์ต ในช่วงเวลาที่วิกฤตที่สุดช่วงหนึ่งของประเทศ ที่ช่วยให้คนทั้งประเทศผ่อนคลายความกังวล และร่วมกันสู้กับวิกฤตไปด้วยกันจนเราผ่านวิกฤตมาได้
พี่หมอเองก็ต้องเสียสละอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อการทำหน้าที่โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน ถือเป็นฮีโร่อีกคนหนึ่ง ร่วมกับบุคลากรการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าทุกคน ในสงครามโควิดครั้งนี้ครับ