ตลาดผลไม้สดใส ยอดนำเข้า-ส่งออกพุ่งกระฉูด ตัวเลข 5 เดือนไทยนำเข้ากว่า 1.4 หมื่นล้าน แหล่งใหญ่จากจีนยังมาอันดับ 1 วงการระบุเหตุจาก 4 ปัจจัยเอื้อ ขณะไทยส่งออกช่วงเดียวกันกว่า 1.9 หมื่นล้านทุเรียน ลำไย มังคุด จีนรับไม่อั้น ชี้ครึ่งหลังยังแรงแถมได้ราคาดี เชื่อเกษตรกรแห่กลับมาปลูกผลไม้ทั้งเพื่อบริโภคภายใน และป้อนตลาดส่งออกอีกรอบ หลังพืชเศรษฐกิจอื่นราคาตก
[caption id="attachment_74868" align="aligncenter" width="700"]
แหล่งนำเข้าผลไม้และของปรุงแต่งจากผลไม้ 5 อันดับแรกของไทย[/caption]
นายวิศิษฎ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในปีนี้ตลาดผลไม้ทั้งการนำเข้ามาและส่งออกไปต่างประเทศถือมีความสดใส โดยในส่วนของการนำเข้าหลักยังมาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นผลพวงจาก 4 ปัจจัย คือ 1.เขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ไทย-จีน และเอฟทีเออาเซียน-จีนที่มีผลบังคับใช้มาหลายปีแล้ว มีผลให้ภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้ระหว่างกันได้ลดลงเป็น 0% 2.ผลไม้นำเข้าจากจีนมีราคาไม่สูง 3.ผลไม้ไทยขาดแคลนจากผลกระทบภัยแล้ง และหลายปีก่อนเกษตรกรจำนวนมากได้เลิกอาชีพทำสวนผลไม้ และหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่ได้ราคาดีกว่า เช่นยางพารา รวมถึงพืชพลังงานอื่นๆ และ 4.ผลจากคนไทยได้หันมาใส่ใจสุขภาพโดยรับประทานผลไม้มากขึ้น
ขณะที่การส่งออกผลไม้ไทยก็มียังมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกทุเรียนสดไปยังตลาดจีน ฮ่องกง และเวียดนาม การส่งออกมะม่วง(น้ำดอกไม้ มหาชนก เขียวเสวย อกร่อง)ไปยังตลาดเกาหลีใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น ซึ่งในปีนี้ผลไม้สดส่งออกของไทยถือได้ราคาดี จากผลผลิตมีน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการ จากผลกระทบภัยแล้ง และส่งผลให้ราคาผลไม้ในประเทศทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ราคาสูงตามไปด้วย
"ปีนี้ถือเป็นปีทองของผลไม้ไทยที่ขายได้ราคาดีมาก เช่นทุเรียนหมอนทองราคาขายปลีกในประเทศตก 120-130 บาทต่อกิโลกรัม มะพร้าวน้ำหอมเคยขึ้นไปสูงสุดถึงลูกละ 45 บาท ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณลูกละ 25 บาท จากผลผลิตเริ่มมีมากขึ้น ราคาสับปะรดเกษตรกรขายได้เวลานี้ 10-15 บาทต่อกิโลกรัมจากปี 2558 เฉลี่ยที่ 5-7 บาท ส้มในประเทศยังขายได้ราคาดีกว่าส้มนำเข้าจากจีนถึง 2 เท่า จากผู้บริโภคยังเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าไทย และยังกังวลเรื่องสารตกค้างสินค้านำเข้า แม้ราชการจะมีการสุ่มตรวจแล้วก็ตาม จากราคาผลไม้ที่ดีดังกล่าว เชื่อว่าจะจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกผลไม้กันเพิ่มขึ้นทั้งเพื่อบริโภคในประเทศและป้อนภาคส่งออก"
สอดคล้องกับที่ "ฐานเศรษฐกิจ"ได้ตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ถึงการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้งของไทยในปี 2558 มีมูลค่า 4.46 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.6% ขณะที่การส่งออกช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่า 1.94 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดจีนมากสุดสัดส่วน 40% รองลงมาได้แก่ ตลาดเวียดนาม ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ สัดส่วน 18.3, 17.8, 4.1 และ 3.5% ตามลำดับ
ทั้งนี้ผลไม้ส่งออกของไทยที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ได้แก่ทุเรียนสด มูลค่า 7,246 ล้านบาท ขยายตัว 40.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือลำไยสด มูลค่า 4,038 ล้านบาท ลดลง -0.09% และมังคุดสด มูลค่า 1,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.1%
ขณะที่การนำเข้าผลไม้และของปรุงแต่งจากผลไม้ของไทยจากต่างประเทศในปี 2558 มีมูลค่า 3.22 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30% โดยนำเข้าจากจีนมากสุดสัดส่วน 52% รองลงมาคือ เวียดนาม สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และเปรู สัดส่วน 9.1, 8.9, 5.5 และ 3.6% ตามลำดับ และในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้การนำเข้ามีมูลค่า 1.44 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% ในจำนวนนี้ยังนำเข้าสูงสุดจากจีน สัดส่วน 67% โดยผลไม้ที่มีการนำเข้ามากสุดคือแอปเปิล และแพร์สด มูลค่ารวม 4,590 ล้านบาท รองลงมาคือผลไม้จำพวกส้มสด หรือแห้ง มูลค่า 2,142 ล้านบาท และองุ่นสด มูลค่า 1,712 ล้านบาท สรุปภาพรวม 5 เดือนแรกของปีนี้ไทยยังเกินดุลการค้าในสินค้าผลไม้ 5,043 ล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559