บอร์ดยาสูบ ยังไม่อนุมัติ "ห้องสูบบุหรี่" ในอาคารสนามบิน 

07 ก.พ. 2568 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2568 | 07:07 น.

"สมศักดิ์" ตั้งคณะทำงานศึกษาความเหมาะสมห้องสูบบุหรี่ในอาคารสนามบิน หลัง ทอท.เสนอ ด้าน "หมอประกิต" ชี้ถอยหลังลงคลอง เผยข้อมูล ทอท. ระบุชัดปี 61-67 มีผู้ร้องขอห้องสูบบุหรี่เพียง 165 คนจากผู้โดยสารกว่า 48 ล้านคน แนะเพิ่มอำนาจ จนท.ปรับผู้ฝ่าฝืนแทนสร้างห้องสูบบุหรี่

7 กุมภาพันธ์ 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 โดยมีประเด็นวาระพิจารณากรณี บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เสนอขออนุญาตทำห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน โดยมีรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. และผู้แทนเข้าร่วมเพื่อแจงข้อเสนอดังกล่าว

นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาหาทางออกและดูข้อเท็จจริงตามข้อเสนอของ ทอท.ว่า เพราะอะไรถึงต้องสร้างห้องสูบบุหรี่ในอาคารและห้องสูบบุหรี่ที่มีอยู่ภายนอกอาคารอยู่แล้วเพียงพอหรือไม่อย่างการเดินทางเพื่อไปห้องสูบบุหรี่ภายนอกใช้เวลาเพียง 1 นาทีเพียงพอหรือไม่ อย่างไร โดยกรรมการที่ตั้งขึ้นมี 5 คน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ตัวแทนกรมควบคุมโรค 1 คนและตัวแทนทอท.อีก 1 คน

1. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดฯ

2. ศ.ดร.อิสรา ศานติศาสน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดฯ

3. นางฐาณิษา  สุขเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดฯ

4.นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผอ.กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และ 5. ผู้แทนบริษัท AOT

นอกจากนี้กำลังพิจารณาในส่วนของค่าปรับของผู้กระทำผิดว่า ให้เจ้าหน้าที่ของ ทอท.สามารถทำได้หรือไม่ โดยได้มอบหมายให้ทางกรมควบคุมโรค (คร.) ไปดูแลเนื่องจากยังมีผู้โดยสารบางส่วนที่ไม่ปฏิบัติตาม ไม่มีห้องสูบบุหรี่ก็ยังสูบ ยอมจ่ายค่าปรับ ตรงนี้ก็ต้องไปดูเพื่อแก้ปัญหาถาวร

บอร์ดยาสูบ ยังไม่อนุมัติ \"ห้องสูบบุหรี่\" ในอาคารสนามบิน  หากจำเป็นต้องเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ทอท. ก็ควรทำภายใต้กฎหมายซึ่งข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่การท่าฯ ไม่มีอำนาจทำได้ ดังนั้น จะต้องเพิ่มอำนาจนี้หรือไม่ อย่างไร หรือเพิ่มค่าปรับจากเดิม 5,000 บาทอาจจะเพิ่ม 10,000 บาท เป็นต้น 

เมื่อถามว่า สรุป คือ ที่ประชุมไม่เห็นชอบสร้างห้องสูบบุหรี่ในอาคารสนามบินใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยังสร้างภายในอาคาร ภายในสนามบินไม่ได้เพียงแต่ตอนนี้ให้ผู้ทรงคุณวุฒิไปดูร่วมกันว่า ห้องสูบบุหรี่ภายนอกเพียงพอหรือไม่

เมื่อถามว่า มีการพูดว่าให้มีการทดลองก่อน หมายถึง เฉพาะภายนอกอาคารใช่หรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวยอมรับว่า ใช่ หากทุกอย่างทำได้ก็อาจจะจบไม่ต้องมาแก้กฎหมายแก้ระเบียบ 

อย่างไรก็ดี นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า สนามบินในประเทศไทยยังควรเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% ภายนอกสูบได้แต่ภายในก็ควรเป็นแบบนั้นซึ่งก็ต้องไปดูว่า มีปัญหาอะไรถึงมาขอทำลักษณะนี้ หรือเพราะทางวิศวกรรมเจาะอาคารไม่ได้หรืออะไร  

"เรื่องนี้เราจะไม่ยืนพิงเสาหรือยืนบังเสาคุยกันแต่จะไปดูให้เห็น Learning by Doing นายสมศักดิ์ กล่าว เมื่อถามว่า มีกรอบระยะเวลาหรือต้องเสนอที่ประชุมครั้งหน้าหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ามีอะไรคืบหน้าก็สามารถเสนอมาได้

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

ด้าน ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ทุกประเทศทำให้สนามบินปลอดบุหรี่อยู่แล้ว รวมถึงประเทศไทยก็อยู่ในสารบบเป็นสนามบินปลอดบุหรี่ 100% ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 ได้มีการออกกฎหมายยกเลิกห้องสูบหรี่ภายในอาคารสนามบิน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2562 แล้วเป็นการดำเนินการตามอนุสัญญาควบคุมบุหรี่โลก ดังนั้น การเสนอขอให้มีการสร้างห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารเพิ่มถือเป็นการถอยหลังลงคลอง ทั้งที่เราทำดีอยู่แล้ว 

ที่สำคัญ ข้อมูลที่ท่าอากาศยานนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการฯ วันนี้ถึงสาเหตุขอให้จัดสร้างห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารสนามบิน อ้างข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2561-2567 มีผู้โดยสารทั้งหมดกว่า 48 ล้านคน มีเพียง 165 คนที่มีความประสงค์ให้หน่วยงานดำเนินการจัดห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารผู้โดยสาร

และระหว่างปี 2561-2566 เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเข้าระงับเหตุผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ภายในอาคาร 69 คน เป็นชาวต่างชาติ 63 คน และชาวไทย 6 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยมากหากเทียบกับจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทั้งหมดกว่า 48 ล้านคน" ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ทั้งนี้ การกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจไปดำเนินการเอาโทษผู้กระทำผิดซึ่งก็ควรจะไปปรับแก้ระเบียบให้อำนาจ ไม่ใช่เหตุผลที่จะมาเสนอให้จัดห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารเพิ่มขึ้น ทั้งที่ ทอท.ก็กำลังจะจัดสร้างห้องสูบบุหรี่อยู่ภายนอกอาคารแล้วจำนวน 3 ห้อง

นอกจากนี้ข้อมูลจาก สมาคมวิศวกรการทำความร้อน ความเย็นและการปรับอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (ASHRAE) ได้ศึกษาข้อมูลยืนยันว่า การมีห้องให้คนเข้าไปสูบบุหรี่ไม่สามารถจัดการควันบุหรี่มือสองได้ อีกทั้งยังพบค่าฝุ่น pm2.5 สูงถึง 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ยืนยันว่า อาคารภายในสนามบินต้องปลอดบุหรี่ 100 %

ขณะที่แนวปฏิบัติข้อ 8 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ยังระบุชัดว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยจากการได้รับควันบุหรี่และมีหลักฐานแน่ชัดว่า มาตรการด้านวิศวกรรม เช่น การระบายอากาศ การกรองอากาศ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีระบบระบายอากาศแยกกันก็ไม่สามารถป้องกันอันตรายจากการได้รับควันบุหรี่ได้ 

"เรื่องนี้เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตนเพราะคนที่ลักลอบสูบมีน้อยมากซึ่งก็ต้องไปเข้มเอาผิด หากเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานไม่มีอำนาจปรับก็ต้องให้กรมควบคุมโรคไปแก้ระเบียบเพื่อเพิ่มอำนาจในการปรับซึ่งโทษของการลักลอบสูงสุด คือ 5,000 บาท" ศ.นพ.ประกิตกล่าว

พร้อมยืนยันว่า ต้องคงเป็น "สนามบิน" ปลอดบุหรี่ 100% กฎหมายทำมาดีแล้ว ไม่ควรถอยหลังลงคลองและประเทศไทยก็เป็นผู้นำระดับโลกในเรื่องนี้ ปัจจุบันมีสนามบินปลอดบุหรี่ทั่วโลกกว่า 100 แห่งและยืนยันการมีห้องสูบในสนามบินไม่มีผลการศึกษาว่า กระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เข้ามาได้