thansettakij
ร่าง พ.ร.บ.โรค NCDs เปิดรับฟังความเห็น มีโทษปรับสูงสุด 5 หมื่นบาท

ร่าง พ.ร.บ.โรค NCDs เปิดรับฟังความเห็น มีโทษปรับสูงสุด 5 หมื่นบาท

27 มี.ค. 2568 | 02:55 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2568 | 03:00 น.

สาธารณสุข เปิดฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.โรค NCDs ถึง 10 เม.ย.นี้ ตรวจสอบรายละเอียดพบบทกำหนดโทษ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดปรับสูงสุดถึง 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญขับเคลื่อนลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมาต่อเนื่อง โดยล่าสุด กรมควบคุมโรค ได้เดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ พ.ศ...จากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่เป็นหรือมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อ ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย LAW โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2568

สาระสำคัญที่ปรากฎในร่างฉบับนี้ อาทิ กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน ทำหน้าที่เสนอนโยบาย หลักเกณฑ์ข้อปฏิบัติ พร้อมกำหนดให้ "หน่วยงานรัฐ สถานศึกษา และสถานประกอบกิจการต่าง ๆ ดำเนินการตามข้อปฏิบัติ ครอบคลุมเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน การควบคุมโรคไม่ติดต่อ การจัดอาหารตามหลักโภชนาการ ตรวจคัดกรองสุขภาพ รวมถึงการให้คำปรึกษาต่าง ๆ เป็นต้น

ผู้ที่ฝ่าฝืนมีบทลงโทษกำหนดไว้ชัดเจนปรับสูงสุด 5 หมื่นบาท กรณีขัดขวางเจ้าพนักงาน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ พ.ศ.. แบ่งออกเป็น 5 หมวด ไม่รวมบทเฉพาะกาล 

นิยามความหมายของคำว่า "โรคไม่ติดต่อ" ระบุไว้ในมาตรา 3 ว่า เป็นโรคเรื้อรังซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโรคที่ยาวนาน มีสาเหตุอันเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงและไม่สามารถแพร่หรือส่งต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้โดยตรง หรือผ่านตัวนำโรค

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคไม่ติดต่อ รวมถึงการตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล หรือการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ซึ่งเป็นหรือมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อได้แล้วแต่กรณี

มาตรา 7 บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อ โดยหน่วยบริการตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ทั้งนี้ หน่วยบริการต้องจัดให้มีการบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ได้รับบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อด้วย

การบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อที่บุคคลมีสิทธิได้รับและการบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศกำหนด

ร่าง พ.ร.บ.โรค NCDs เปิดรับฟังความเห็น มีโทษปรับสูงสุด 5 หมื่นบาท มาตรา 8 ค่าใช้จ่ายจากการได้รับบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อของบุคคลตามมาตรา 7 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขการได้รับสวัสดิการหรือสิทธิตามกฎหมายในการได้รับการบริการสาธารณสุขของบุคคลนั้น

ค่าใช้จ่ายจากการได้รับบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อตามวรรคหนึ่ง อาจขยายให้ได้รับนอกเหนือ หรือเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้สำหรับการได้รับสวัสดิการหรือสิทธิในการได้รับการบริการสาธารรสุขก็ได้

มาตรา 9 บรรดาข้อมูลส่วนบุคคลจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ. นี้ให้ถือเป็นความลับ

มาตรา 10 ให้มีคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ

กำหนดให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อาทิ รมว.คลัง, รมว.มหาดไทย, รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา, รมว.แรงงาน, รมว.ศึกษาธิการ, รมว.สาธารณสุข, รมว.อุดมศึกษาฯ, รมว.อุตสาหกรรม รวมถึงเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค , เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้กำหนดให้มี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน โดยรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการแพทย์ ด้านการสาธารณสุข ด้านกฎหมาย ด้านการศึกษาและสังคม ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน หรือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้านละ 1 คน

ให้ปลัดสาธารณสุข เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระคราวละ  4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้

คณะกรรมการมีหน้าที่ เสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนระดับชาติว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อ รวมถึงการตรวจวินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงกำหนดแนวทางปฏิบัติ ระบบ และมาตรการด้านต่าง ๆ เสนอต่อครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบและให้มีการตราหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อและเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกประกาศ และระเบียบ กำหนดแนวทางสนับสนุนต่าง ๆ เป็นต้น

มาตรา 20 ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกันหรือควบคุมโรคไม่ติดต่อ

มาตรา 21 ให้สถานศึกษาดำเนินการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกันหรือควบคุมโรคไม่ติดต่อในสถานศึกษาของตน เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคไม่ติดต่อในสถานศึกษาแก่บุคลากรทางการศึกษา หรือบุคลการอื่นใดที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา และจัดให้มีอาหารตามหลักโภชนาการ เป็นต้น

มาตรา 22 ให้สถานประกอบกิจการดำเนินการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในสถานประกอบการ เช่น จัดให้มีการแจ้งหรือการเผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็นหรือมีความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ

จัดให้มีอาหารตามหลักโภชนาการ สภาพแวดล้อม การตรวจคัดกรองสุขภาพ และระบบเพื่อการดูแล ช่วยเหลือให้คำปรึกษา หรือคำแนะนำที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งได้รับความยินยอมให้ทำงานหรือทำผลประโยชน์ให้แก่สถานประกอบกิจการหรือในสถานประกอบกิจการ 

ทั้งนี้ ประเภท ขนาด หรือลักษณะของสถานประกอบกิจการและการดำเนินการของสถานประกอบกิจการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการหรือเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ

ในหมวดที่ 5 บทกำหนดโทษ ระบุว่า หากผู้ใดปฏิบัติหรือฝ่าฝืนตามหมวด 3 จะมีบทลงโทษ เช่น มาตรา 27 ผู้ให้ให้บริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อไม่เป็นไปตามเกณฑ์ มีความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5 หมื่นบาท

มาตรา 29 ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 20 มาตรา 21 หรือมาตรา 22 มีความผิดตามพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5 หมื่นบาท

มาตรา 31 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 24 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คลิกอ่านรายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติโรคไม่ติดต่อ พ.ศ....

ช่องทางร่วมแสดงความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติโรคไม่ติดต่อ พ.ศ.... คลิกที่นี่