ศ.พญ.ศิริวรรณ ตั้งจิตกมล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย พร้อมด้วย พญ. ศิริโสภา เตชะวัฒนวรรณา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมีบำบัด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน "มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม" เป็น 2 ใน 5 อันดับแรกของโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากที่สุด
แม้ว่าการตรวจคัดกรองจะสามารถลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการรักษาได้ แต่หลายคนยังลังเลหรือไม่สามารถเข้าถึงบริการตรวจสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ข้อมูลล่าสุดระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงไทยมองว่าการตรวจคัดกรองเป็นเรื่องที่ไม่เร่งด่วน ส่งผลให้พลาดโอกาสในการป้องกันและรักษาโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
โดยมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้วันละ 13 คน ที่น่าตกใจคือ ประมาณร้อยละ 85 ของผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์เคยติดเชื้อ HPV และมากกว่าร้อยละ 99 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรค การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสามารถช่วยให้พบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความเสี่ยงของมะเร็งระยะลุกลามและการเสียชีวิต
ขณะที่ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 55 ของผู้หญิงเคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แล ร้อยละ 12 วางแผนจะเข้ารับการตรวจ อย่างไรก็ตาม อีกร้อยละ 33 ไม่ต้องการตรวจคัดกรองเลย เนื่องจาก กลัวเจ็บและรู้สึกอาย ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวล
และเพื่อช่วยให้ผู้หญิงก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ การเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (Self-Sampling HPV Test) จึงเป็นทางเลือกที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น โดย ร้อยละ 65 ของผู้หญิงที่เข้าร่วมการสำรวจเห็นด้วยว่าการตรวจคัดกรองด้วยตนเองเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ทั้งนี้ ผลการศึกษาระดับนานาชาติและการศึกษาของสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย พบว่า การเก็บสิ่งส่งตรวจหาเชื้อ HPV ด้วยตนเองและการตรวจโดยแพทย์มีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน ข้อมูลเหล่านี้ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้หญิงในการดูแลสุขภาพของตนเอง
การตรวจคัดกรองสุขภาพสตรีมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติแนะนำว่า ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง ส่วนผู้หญิงในกลุ่มอายุ 40-69 ปี นอกจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้ว ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมทุก 1 ปี
นอกจากนี้ “ผู้หญิงไทยกำลังเผชิญความท้าทายด้านสุขภาพ” โดยคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 และอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 ภายในปี 2030 สอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลกที่คาดว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 เป็นมากกว่า 2.7 ล้านคน และอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 เป็น 8.5 แสนคนในช่วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ ผลสำรวจของ Roche Diagnostics APAC Women Health Survey 2025 ยังพบว่า ร้อยละ 52 ของผู้หญิงไทยค้นหาข้อมูลด้านสุขภาพจากอินเทอร์เน็ต และ ร้อยละ 48 หาข้อมูลจากโรงพยาบาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของแหล่งข้อมูลออนไลน์ในการให้ความรู้ด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยหรือพบความผิดปกติ ควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัยและดูแลสุขภาพที่เหมาะสม
ขณะที่สำรวจผู้หญิงอายุ 25-50 ปีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหมด 8 ประเทศกว่า 300 ราย ระบุว่าร้อยละ 28 ของผู้หญิงไทยเคยเลื่อนหรือหลีกเลี่ยงการรักษาทางการแพทย์สูงเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย เนื่องจากภาระหน้าที่ในครอบครัว ขณะเดียวกันผู้หญิงก็มีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง หรือสาธารณสุข
นอกจากนี้ มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้หญิงในประเทศโลกตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการดูแลสุขภาพของครอบครัว อีกทั้งยังเป็นกำลังหลักในระบบสาธารณสุข โดย ร้อยละ 66 ของผู้ดูแลคนป่วยในครอบครัวทั่วโลกเป็นผู้หญิง และ ร้อยละ 71 ของบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้หญิงยังรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครอบครัวสูงถึง ร้อยละ 70
ภาระหน้าที่เหล่านี้ทำให้ผู้หญิงไทยละเลยสุขภาพของตนเอง ส่งผลให้อัตราการเกิดมะเร็งในผู้หญิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดจาก Economist Impact ระบุว่า ร้อยละ 27.8 ของผู้หญิงไทยไม่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และ ร้อยละ 24.9 ไม่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยมีสาเหตุหลักมาจาก การขาดความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการตรวจสุขภาพ และความกังวลเกี่ยวกับผลตรวจ
ด้าน นายมิไฮ อิริเมสซู กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากผลสำรวจพบว่า เหตุผลหลักที่ผู้หญิงไทยไม่ตรวจคัดกรองมะเร็งคือ คิดว่าไม่มีอะไรผิดปกติ (34%) กลัวเจ็บ (28%) และกลัวผลตรวจ (26%) ดังนั้น การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ โรช มุ่งมั่นส่งเสริมโครงการด้านสุขภาพสำหรับผู้หญิง เพื่อ ยกระดับสิทธิและความเท่าเทียมด้านสุขภาพในสังคมไทย ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการช่วยเหลือด้านสุขภาพสำหรับสตรีไทย ที่จัดกิจกรรมตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ให้ความรู้แก่พนักงานในโรงงาน และส่งเสริมการใช้ ชุดเก็บรวบรวมตัวอย่างด้วยตนเอง ผ่านช่องทางดิจิทัล
โครงการสัปดาห์ตรวจสุขภาพสตรีแห่งชาติ ที่ร่วมมือกับพันธมิตรกว่า 60 องค์กรทั่วประเทศ เพื่อจัดกิจกรรมโรดโชว์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้หญิง โครงการ Cancer Care Connect ที่ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งทุกชนิดสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โครงการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง ความมุ่งมั่นในการตอกย้ำความสำคัญของการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในผู้หญิงยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์เร่งรีบ
โดยตั้งเป้าว่า ภายในปีนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศ (Centers of Excellence) ในโรงพยาบาลต่างๆ จะนำเสนอแนวทางการตรวจวินิจฉัยและการรักษาแบบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการวินิจฉัยโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเพิ่มขึ้น 10%
“โรชให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้และการตรวจคัดกรองด้านสุขภาพมาโดยตลอด ไม่เพียงแต่ในเดือนแห่งวันสตรีสากล แต่ยังมุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีในทุกๆ วัน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของทุกคนในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น”