นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operations Center :EOC) กรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมาซึ่งประเทศไทยรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ในหลายพื้นที่ โดยนายสมศักดิ์ รมว. สาธารณสุข ได้ออกข้อสั่งการ ดังนี้
1.ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาต่อเนื่อง
2. สำรวจและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งอาคาร อุปกรณ์ รวมถึงความปลอดภัยของบุคลากรและคนไข้ โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเตรียมประเมินความเสียหายโครงสร้าง
3.กรณีหมดเหตุอาฟเตอร์ช็อกแล้ว หากอาคารไม่ร้าว หรือเห็นว่า มีความปลอดภัย ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตัดสินใจในการทำแผนนำคนไข้กลับเข้าที่เดิม
4.เตรียมความพร้อมทีมแพทย์ออกไปดูแลประชาชนทีได้รับบาดเจ็บตามที่ร้องขอ
5.เตรียมพร้อมโรงพยาบาล บุคลากร เครื่องมือ เวชภัณฑ์ให้มีความพร้อมมากขึ้น
6.จัดทีมประสานงานอำนวยการสั่งการและทีมสื่อสาร พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นโฆษกสื่อสาร
7.เตรียมระบบชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต
8.จัดเตรียมทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ทั้งจากกรมสุขภาพจิต 1,000 คน และจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ดูแล
ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์กองสาธารณสุขฉุกเฉิน ระบุว่า เบื้องต้นมีรายงานในเขตสุขภาพต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ 17 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งหนักที่สุด โดยเฉพาะกรณีอาคาร สำนักงานของสตง. ที่กำลังก่อสร้าง เบื้องต้นระบุว่า มีผู้อยู่หน้างานราว 400 คน สูญหาย ประมาณ 80 คน และรายงานมีผู้เสียชีวิต 3 ราย
สำหรับผลกระทบในต่างจังหวัด พบว่า เขตสุขภาพที่ 1 ได้รับผลกระทบทั้งหมด 8 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำพูน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน และลำปาง ส่วนใหญ่อาคารร้าวขณะที่บางส่วนผนังมีรอยร้าว ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เขตสุขภาพที่ 2 ได้รับผลกระทบที่จังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์ พบปัญหาเรื่องตึกร้าวเช่นกัน เขตสุขภาพที่ 3 จ.ชัยนาท ตึกรพ.ชัยนาทนเรนทร ร้าว
เขตสุขภาพที่ 4 จังหวัดนนทบุรี มีอาคาร รพ.บางกรวย และรพ.บางใหญ่ มีรอยร้าว รวมถึงในเขตสุขภาพที่ 5 ที่จังหวัดนครปฐม โดยรพ.ศูนย์นครปฐม และ รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร อาคารร้าว ขณะที่เขตสุขภาพที่ 7 จ.มหาสารคาม มีอาคารร้าวเล็กน้อย เช่นเดียวกับเขตสุขภาพที่ 8 ที่จังหวัดเลย พบว่ามีอาคารร้าวด้วยเช่นกัน
ด้าน ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) รายงานว่า ได้ประสานศูนย์เอราวัณ และศูนย์รับแจ้งเหตุทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์โดยขณะนี้ทางศูนย์การแพทย์นเรนทร ได้ส่งทีมเข้าไปให้การช่วยเหลือในการค้นหาผู้ที่ติดในซากอาคารย่านจตุจักรที่ถล่มลงมา
พร้อมบุคลากรเข้าไปช่วยเหลือในการประสานงานทีมกู้ชีพ และการส่งต่อผู้ได้รับผลกระทบไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงนำรถสื่อสารเข้าไปอำนวยความสะดวกในพื้นที่เรื่องจากมีปัญหาเรื่องสัญญาณโทรศัพท์มือถือค่อนข้างหนาแน่น ทำให้ประสานงานลำบาก เบื้องต้นได้รับรายงานมีผู้อยู่ในตึก 400 คน เสียชีวิต 3 ราย กู้ภัยและทหาร ทำการค้นหา ส่วนที่ออกมาได้แล้วประมาณ 50 ราย ยังไม่สามารถแยกได้ว่า ไปโรงพยาบาลไหนบ้าง
สำหรับกรณีเหตุตึกถล่มบริเวณบางซื่อนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังได้รับผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหว เบื้องต้นมีรายงานคนงานก่อสร้างประมาณ 407 คน ขณะนี้มารายงานตัวแล้ว 340 คน สูญหาย 67 คน ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย นำส่ง รพ.สีกัน 2 ราย รพ.วิมุต 1 ราย และ รพ.พญาไท 2 ราย อีก 3 ราย อาการเล็กน้อยได้กลับบ้านแล้ว และผู้เสียชีวิต 3 ราย
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้จัดทีมกู้ชีพกู้ภัยในการเข้าช่วยเหลือผู้ติดค้างแล้ว โดยมีทีมของ รพ.พระมงกุฎเกล้า เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีศูนย์เอราวัณประสานในการส่งตัวผู้บาดเจ็บไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขพร้อมประสานในการรับดูแลผู้บาดเจ็บ นอกจากนี้ยังได้เตรียมทีมพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลในการชันสูตรผู้เสียชีวิตด้วย
อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้รับรายงานว่า ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) มีเด็กเสียชีวิต 1 ราย อายุ 1 เดือน เป็นผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกในสมอง อาการค่อนข้างวิกฤต และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการหารือร่วมกับญาติคนไข้ตั้งแต่แรกแล้วว่า เป็นรักษาแบบประคับประคอง กระทั่งช่วงเกิดแผ่นดินไหว กำลังย้ายออกจากไอซียู เด็กหัวใจหยุดเต้น 1 ครั้งและปั๊มหัวใจขึ้นมาและหยุดเต้นอีก ทั้งนี้ บุคลากรได้พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว