จากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย ก่อให้เกิดความเสียหายในบางพื้นที่ของโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ โดยเฉพาะโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีการให้บริการผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในแต่ละวันนั้น ความคืบหน้าล่าสุด
โดยนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม 2568 ได้มีทีมวิศวกรจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และเขตราชเทวี ได้เข้าร่วมกันประเมินความเสียหายของอาคารทศมินทราธิราช โรงพยาบาลราชวิถี และให้ความเห็นว่า ควรปิดบริการชั่วคราวเพื่อตรวจประเมินอย่างละเอียดอีกครั้ง
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยผู้ป่วยที่รับบริการและบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างมาก จึงได้กำชับ ติดตามให้กรมการแพทย์สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นและเร่งรัดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ประเมิน และให้ข้อเสนอแนะ การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารทศมินราธิราช โรงพยาบาลราชวิถี จากเหตุแผ่นดินไหว โดยอธิบดีกรมการแพทย์ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งในวันที่ 29 มีนาคม 2568 เพื่อการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารที่อาจจะได้รับผลประทบ
รวมถึงการป้องกันอันตรายจากเหตุต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโดยเร็ว ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมโครงสร้างอาคาร จากทุกภาคส่วน ได้แก่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ กรมโยธาธิการและผังเมือง กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย มูลนิธินายช่างไทยใจอาสา และ เขตราชเทวี เป็นต้น มีอำนาจหน้าที่
1. ประเมินความเสียหาย ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง ความปลอดภัยของอาคารทศมินราธิราช และพิจารณาการเข้าใช้พื้นที่
2. ให้ข้อเสนอแนะการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร
3. จัดทำรายงานผลการสำรวจอาคารทศมินราธิราช และข้อเสนอแนะเสนอต่อผู้บริหาร
4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อช่วยในการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นไปตามกฎหมาย และตามมาตรฐานที่เหมาะสม
โดยจะมีการประชุมของคณะกรรมการในวันที่ 31 มีนาคม 2568 เพื่อเร่งสำรวจ ประเมิน โดยละเอียด และวางแผนในการซ่อมแซมอาคารทศมินทราธิราช โรงพยาบาลราชวิถีให้กลับมาให้บริการประชาชนโดยเร็วที่สุด ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย
ทั้งนี้ ได้มีการนำแผนการบริหารจัดการความต่อเนื่องสำหรับสถานพยาบาล (Business Continuity Management: BCM) มาใช้ เพื่อลดผลกระทบของภัยต่อการดำเนินงานให้บริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาล และให้การบริการกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติได้โดยเร็วที่สุด