วันนี้(18 ก.ค.65) ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงการเสียชีวิตจากโควิด-19 ว่า พบในกลุ่มคน 608 ถึง 98% และพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตนี้ เริ่มพบคนที่รับวัคซีนเข็มกระตุ้นไปแล้ว 3 เข็ม แต่ห่าง 3 เดือน เสียชีวิต และผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีถึง 92% ในจำนวนนี้พบเป็นโรคไตมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 25 ก.ค.2565 “ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป” หรือ Long Acting Antibody หรือ LAAB จะส่งมาถึงประเทศไทย จำนวน 7,000 โดส จากนั้นจะทยอยมาจนครบ 257,500 โดส ซึ่งจะนำฉีดให้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มีการฟอกไต หรือรับประทานยากดภูมิ หรือ กลุ่มที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
โดยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปนี้ คาดว่าจะมีผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าวมาลงทะเบียนฉีดประมาณ 200,000 คน ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้ ฉีด 1 เข็ม จะอยู่นานถึง 6 เดือน
ข้อมูลทั่วไป ใช้ในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนัก 40 กิโลกรัมขึ้นไป ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกทั้ง 2 ข้าง โดยข้อบ่งชี้สำหรับการใช้เป็นการป้องกันก่อนสัมผัสโรคโควิด-19 เป็นผู้ที่ไม่ได้กำลังติดเชื้อ หรือไม่ได้เป็นผู้เพิ่งสัมผัสเสี่ยงสูงต่อโรคโควิด-19 และเป็นผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือ ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ด้วยความจำเป็นบางประการ เช่น แพ้วัคซีน หรือ ส่วนประกอบของวัคซีน
“ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปนี้ได้มาจากการปรับลดการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากเดิม 60 ล้านโดส ให้เหลือแอสตร้าฯ 35.4 ล้านโดส และเปลี่ยนวัคซีนบางส่วนเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป จำนวน 257,500 โดส คาดว่าจะได้รับมอบล็อตแรกในสัปดาห์หน้า จำนวน 7,000 โดส ส่วนที่เหลือจะทยอยได้รับมอบภายในปี 2565
โดยการฉีดจะต้องให้บริการในโรงพยาบาล เพราะเป็นการฉีดให้กลุ่มที่มีโรคประจำตัว โดยจะกระจายไปตามที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ จัดส่งไปตามจังหวัดและให้พื้นที่พิจารณากระจายภายในจังหวัด และเปิดกว้างการพิจารณาฉีดให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย” นพ.โอภาส ระบุ