จากการระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้มีเด็กอายุ 0-18 ปีติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นทำให้มีการพบผู้ป่วย MIS-C (มิสซี) เพิ่มขึ้นนั้น กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า การพบผู้ป่วย MIS-C (มิสซี) ที่เพิ่มขึ้นนั้นเนื่องจากเป็นอาการที่พบในเด็กหลังติดเชื้อโควิด19 ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2565 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้มีบริการการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้เด็กซึ่งคาดหวังว่า จำนวนผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิดลดลงส่งผลให้อัตราการเกิดมิสซีลดลงด้วย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มิสซี เป็นกลุ่มอาการที่พบได้ในผู้ป่วยเด็กซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ แต่พบภาวะช็อคที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจหรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพองซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ถ้ามีอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ในประเทศไทย พบผู้ป่วย MIS-C แล้วมากกว่า 100 ราย ทั่วประเทศ
สำหรับการป้องกันโรคนี้มีการรายงานจากต่างประเทศพบว่า การให้วัคซีนป้องกันโควิดลดความเสี่ยงต่อการเกิด MIS-C และลดความรุนแรงของโรคได้
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีการพบผู้ป่วย MIS-C จำนวน 51 ราย อายุตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 11 ปี อายุเฉลี่ย 4.8 ปี ผู้ป่วยร้อยละ 27 มีภาวะช็อคจึงจำเป็นต้องให้การรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยบางคนมีเส้นเลือดหัวใจโป่งพองคล้ายกับโรคคาวาซากิ ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีการตอบสนองต่อการรักษาดี
การทำงานของหัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติร้อยละ 90 ระยะเวลาที่รักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา ในสถาบันฯ พบการเสียชีวิตจากภาวะนี้จากเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง 1 ราย การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้และลดภาวะแทรกซ้อนได้ ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินียังไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากวัคซีนป้องกันโควิดในผู้ป่วยที่เคยเป็น MIS-C และพบว่าผู้ป่วย MIS-C ที่จำเป็นต้องเข้าไอซียู ในปี 2565 มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้เด็กไทย
ภาวะ MIS-C (มิสซี) Multisystem Inflammatory Syndrome in Children คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่พบหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยจะมีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกายพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะอาการในระบบหัวใจ ปอด ตับ ไต สมอง ผิวหนัง ตา ระบบทางเดินหายใจ หรือระบบทางเดินอาหาร
ภาวะนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรงแต่เป็นภาวะที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อผิดปกติไป โดยเริ่มมีอาการตั้งแต่ระยะหายจากโรค จนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์ มักเกิดในเด็กอายุเฉลี่ย 6 – 10 ขวบขึ้นไป พบได้เท่า ๆ กัน ทั้งในเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง
ลักษณะอาการของ MIS-C ในเด็กที่เคยมีประวัติติดเชื้อโควิด -19 ภายในช่วง 2 เดือน
อย่างไรก็ดี อาการของภาวะ MIS-C อาจมีอาการคล้ายกับโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) แต่ภาวะ MIS-C มักพบในผู้ป่วยเด็กโต แตกต่างจากโรคคาวาซากิที่มักพบในผู้ป่วยเด็กเล็ก ซึ่ง MIS-C อาจมีอาการรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของเด็ก ๆ ที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที ทั้งนี้ การรับวัคซีนโควิดจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อรุนแรงช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของการเกิดภาวะ mis-c