รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ
กักตัวแค่ไหนถึงพอ?
ยืนยันอีกครั้งว่าความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน จากอเมริกาและสหราชอาณาจักร หากกักตัว 5 วัน โอกาสหลุดมีสูง 50-75%
อย่าเสพข่าวที่ให้ข้อมูลแบบตีมึน โดยอ้างถึงเรื่องการแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนจะเกิดอาการ (pre-symptomatic transmission)
บอกดังๆ ว่าโควิด-19 นั้น คนที่ติดเชื้อสามารถแพร่ได้ตั้งแต่ก่อนจะมีอาการ 2.3 วัน นี่คือความรู้ที่มีมานานแล้ว
และตอกย้ำให้ทราบว่าจำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจรับเชื้อติดเชื้อมาโดยไม่รู้ตัว และแพร่ให้คนอื่นได้ตั้งแต่ตอนไม่มีอาการ
แต่ข้อมูลข้างต้น ไม่ได้หักล้างความรู้เกี่ยวกับระยะเวลาของคนที่ติดเชื้อแล้วจะสามารถแพร่เชื้อไปได้อีกนานเพียงใด นี่เป็น"คนละเรื่อง"กัน
ดังการวิจัยของ Imperial College London ที่เล่าให้ฟังวันก่อนว่า
หากกักตัว 5 วันนับจากวันที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ (ซึ่งอาจมีหรือยังไม่มีอาการก็ได้)
จะมีโอกาสที่คนคนนั้นยังสามารถแพร่เชื้อได้สูงถึง 75%
แต่หากนับจาก "วันที่เริ่มมีอาการ" การกักตัว 5 วัน จะยังคงมีโอกาสหลุดได้สูงถึง 67% (สูงถึงสองในสาม!!!!)
นี่จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ และข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจน ตอกย้ำถึงคำแนะนำที่ให้ไว้ว่า ในทางปฏิบัติแล้ว
เราควรลดความเสี่ยง ด้วยการกักตัว 7-10 วัน และควรตรวจ ATK ซ้ำว่าได้ผลลบ โดยที่ไม่มีอาการป่วยแล้ว
จึงจะออกมาใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดต่อจนถึงอย่างน้อยสองสัปดาห์
ข้อมูลจากการวิจัยทั้งจากอเมริกา และสหราชอาณาจักรนั้น ชี้ให้เห็นระยะเวลาและความเสี่ยงแต่ละระดับ ยิ่งกักตัวสั้น ความเสี่ยงก็สูงเป็นเงาตามตัว
ขอให้เสพข่าวอย่างรู้เท่าทัน มีความรู้ และประยุกต์ใช้ความรู้ให้ถูกต้องเหมาะสม
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก