สสส.-เครือข่ายลดบริโภคเค็ม-WHO หนุน 4 มาตรการ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” ปรับพฤติกรรมการกิน มุ่งเป้าลดกินเค็มลง 30% ลดเสี่ยงป่วย-ตายจากโรค NCDs ภายในปี 2568 ดึง ผู้ประกอบการปรับสูตรอาหาร พร้อมเตรียมหารือกรมสรรพสามิตดันภาษีความเค็มคุมความเค็มในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นสำเร็จรูป และขนมกรุบกรอบ
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาการกินเค็มที่มากเกิน ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายหนา เกิดการสะสมของพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจ ไต และหลอดเลือด อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยจากข้อมูลผลสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่า
สสส. ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข WHO และภาคีเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” ในประเทศไทย มุ่งเป้าปรับลดพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมของคนไทยลง 30% ภายในปี 2568 หรือบริโภคไม่เกิน 700-800 มก./มื้ออาหาร เพื่อช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ถึง 20% รวมทั้งยังช่วยลดอัตราการตายจากโรคดังกล่าวได้ 5-7%
“สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินการรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมลดการบริโภคเค็ม พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น 1. ผลักดันให้เกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรค NCDs 2. สนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในไทย ปี 2559-2568 3. พัฒนาสารทดแทนความเค็ม 4. พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม 5. นวัตกรรมเครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร (CHEM Meter) 6. ระบบฐานข้อมูลโซเดียมในวัตถุดิบอาหาร-เครื่องปรุงรสในอาหารประจำภูมิภาคและอาหารแปรรูป 7. ขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 8. สื่อสารรณรงค์แคมเปญลดเค็ม ลดโรค และลดเค็ม ครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค ทำให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจในวงกว้าง”
พญ.โอลิเวียร์ ไนเวรัส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประชากรทั่วโลกจำนวนกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิตจากการบริโภคโซเดียมที่มากเกินจำเป็น ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,600-4,800 มก./วัน WHO จึงได้ประกาศเป้าหมายลดการบริโภคโซเดียมทั่วโลกลงให้ได้ 30% ภายในปี 2568 พร้อมทั้งแนะนำให้ประชากรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มก./วัน โดยเสนอมาตรการ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม”
สำหรับผู้ประกอบการในไทย 4 ข้อ ที่จะช่วยลดบริโภคโซเดียมอย่างมีประสิทธิภาพ
1. ต้องปรับสูตรอาหาร กำหนดและตั้งเป้าหมายการลดปริมาณโซเดียมแบบบังคับ พร้อมพัฒนาเมนูลดโซเดียมในร้านอาหารและใช้มาตรการทางการเงินจากภาครัฐ
2. นโยบายการจัดซื้ออาหารโซเดียมต่ำในองค์กร
3. ติดฉลากคำเตือนหน้าบรรจุภัณฑ์ ระบุปริมาณโซเดียมโดยสัญลักษณ์สี
4. สื่อสารรณรงค์เพื่อลดการบริโภคโซเดียม
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า แนวโน้มของผู้ประกอบการด้านอาหารในประเทศไทยมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจเกณฑ์ปริมาณโซเดียมสูงสุดในผลิตภัณฑ์อาหารและลักษณะทั่วไปของอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายในไทย ปี 2561-2564 พบแนวโน้มมีปริมาณโซเดียมลดลง 11.6% ในอาหารประเภทข้าวต้ม โจ๊ก บะหมี่ที่บรรจุแบบถ้วย ที่สำคัญยังพบว่า มีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพของ สสส. เพิ่มขึ้น จาก 4.5% เป็น 21.1% ในปี 2565 นี้ เครือข่ายฯ ได้ร่วมกับ สสส. ริเริ่มโครงการลดเค็มเลือกได้ เร่งขยายความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการ และพัฒนาเมนูอาหารลดโซเดียม