วันนี้ (10 พฤศจิกายน) นายแพทย์สมิทธิ์ ศรีสนธ์ ตัวแทนประชาชน ร่วมกับ กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี ได้ยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2417/2565
ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 (ประกาศกัญชาเสรี) โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าว และให้กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2563
สำหรับสาระสำคัญของการขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกัญชาเสรี มีข้อที่น่าสนใจดังนี้
ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับพิพาทขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย
หลังจากประมวลกฎหมายยาเสพติด มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 แม้ตามมาตรา 29 (5) ของกฎหมายดังกล่าว จะไม่ได้ระบุว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ให้โทษ ประเภทที่ 5 ดังเดิม แต่เนื่องจากตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2564 บัญญัติให้ประกาศที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ประมวล กฎหมายยาเสพติดใช้บังคับยังมีผลใช้บังคับได้ต่อไป จนกว่าจะมีประกาศที่ออกตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับ
ดังนั้น ย่อมต้องถือว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ที่กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพ ติดให้โทษในประเภทที่ 5 ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป
ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นเรื่องที่จำเลยได้ผลิตโดยการ เพาะปลูกกัญชา อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำนวน 1 ตัน และจำเลยมีกัญชา จำนวน 1 ต้นดังกล่าว (ต้นพืชประกอบด้วยราก ลาต้น กิ่ง ก้าน ใบ และช่อดอก) น้ำหนักสุทธิ 1,720 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พร.บ. ยาเสพติดให้ โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26/2 วรรคหนึ่ง
ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด แต่ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิด ได้มี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 4 (5) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เมื่อประมวล กฎหมายยาเสพติดใช้บังคับแล้ว
แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดยังคงบัญญัติให้การผลิต กัญชา อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เป็นความผิด ตามมาตรา 93 ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด กับประมวลกฎหมายยาเสพ
เป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด มีระวางโทษเท่ากัน เมื่อโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้บังคับ ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคแรก
ทั้งนี้ผลของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ศ.2565 ที่กำหนดให้เฉพาะ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา เป็นยาเสพติด ให้ โทษในประเภทที่ 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จึงทำให้ส่วนที่เป็น เปลือก ลำต้น เส้น ใย กิ่งก้าน ราก ใบ ช่อดอก ซึ่งเคยระบุว่าเป็นยาเสพติดให้โทษตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อีกต่อไป
ดังนั้น เมื่อส่วนต่างๆ ของพืชกัญชาไม่จัดว่าเป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไปแล้ว บุคคล ทั่วไปจึงสามารถผลิต จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง และใช้กัญชาได้อย่างเสรี โดยไม่มีเงื่อนไข หรือข้อจำกัด
เมื่อออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ขณะที่รัฐเองยังไม่ได้มีมาตรการใดทางกฎหมายมารองรับ กรณี จึงเห็นได้ว่าการประกาศให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไปย่อมขัดต่อเจตนารมย์ของ กฎหมายที่ต้องการควบคุมและจำกัดการใช้พืชกัญชา ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษเพื่อมุ่งคุ้มครอง สุขภาพอนามัยและสวัสดิภาพของประชาชน
รวมถึงคุ้มครองสังคมโดยรวมอันเป็นประโยชน์สาธารณะด้วย ประกาศฉบับดังกล่าวจึงเป็นกฎที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำ โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับประกาศกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ยังมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2564 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้หรือจำหน่ายกัญชาอย่างเสรีในช่วงเวลานี้
สาเหตุที่ต้องมีการฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลาง เพราะ การออกประกาศดังกล่าวถือเป็นการออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ขัดต่อ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ให้โทษ ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) (The Single Convention on Narcotic Drugs, 1961)
รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1971 ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้มีเนื้อหาในการควบคุมและจำกัดการใช้ยาเสพติดให้โทษเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น จะใช้ประโยชน์อย่างอื่นมิได้ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในรัฐสมาชิกที่ร่วมลงมติรับและเข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504
ดังนั้น การออกประกาศดังกล่าว โดยที่ไม่มีมาตรการควบคุมกำกับดูแลว่าให้กัญชาใช้ในทางการแพทย์ได้เท่านั้น เท่ากับเป็นอนุญาตให้มีการใช้ หรือจำหน่ายกัญชาได้อย่างเสรี ซึ่งผลเสียหายต่อประชาชน และทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะผิดต่อพันธะตามอนุสัญญาที่ได้ลงนามไว้ด้วย