ผลกระทบเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครทวีความรุนแรงเกิดจากหลายปัจจัย แต่สำหรับวันนี้ จากการตรวจวัดทุกพื้นที่พบว่า มีแนวโน้มที่ดีขึ้น สะท้อนจากศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครสรุปผลการตรวจวัด PM2.5 วันที่ 26 มี.ค.2566 เวลา 05.00-07.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด)
ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 17-36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)
ในช่วงวันที่ 26 มี.ค.-2 เม.ย.2566 มีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีตลอดช่วง ประกอบกับมีสภาพอากาศเปิด ทำให้ PM2.5 สามารถแพร่กระจายได้ดี ส่งผลให้คุณภาพอากาศดี ในช่วงวันที่ 26-29 มี.ค. 2566 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน
ขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไปจึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด รวมถึงระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่เกิดขึ้นไว้ด้วย และวันนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน
สำหรับช่วงวันที่ 26 มี.ค.2566 เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่