11 กรกฎาคม 2566 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ครั้งที่ 3/2566 โดยกล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่เพิ่มมากขึ้นว่า มีการประชุมในศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธาณสุข (อีโอซี) เมื่อเช้าวันนี้ ล่าสุด ตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกของไทยอยู่ที่ประมาณ 3.1 หมื่นคน ถือว่าสูงมาก โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 3 พันคน
ทั้งนี้ เรามีการทำงานร่วมกันทุกจังหวัดอยู่แล้วที่ให้มีการทำ Mapping และวิเคราะห์สถานการณ์ จึงได้เร่งรัดมาตรการ คือ
1.การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เราพบว่า โรงเรียน รพ. และโรงงานยังมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงจึงขอให้เร่งรัดลงไปดูและจัดการ โดยเฉพาะที่วัดซึ่งมีค่าดีชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก เราลงไปดูในพื้นที่และแจ้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ให้ช่วยกันดำเนินการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในวัด
2.การลดการเสียชีวิต ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 33 ราย จึงเน้นย้ำถ้าเป็นไข้เลือดออกแล้ววินิจฉัยเร็ว รักษาเร็วก็จะช่วยลดการเสียชีวิตลงได้ โดยหากมีอาการกินยาลดไข้แล้วไม่ลง มีอาการเข้าได้กับไข้เลือดออก เช่น ตัวแดง เป็นต้น
ขอย้ำว่า อย่าทิ้งไว้นาน ให้รีบไปรับการรักษา ซึ่งเรามีชุดตรวจวินิจฉัยเร็วซึ่งสามารถตรวจได้ที่ รพ.สต. เรามีการกระจายชุดตรวจลงไปที่จังหวัดและลงไปถึง รพ.สต.แล้วซึ่งในการประชุมวิชาการ Dengue Effective for Treatment and Prevention เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการอัปเดตไกด์ไลน์แนวทางการรักษาให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งได้เน้นย้ำในเรื่องของการวินิจฉัยเร็วและการใช้ชุดตรวจวินิจฉัยเร็วด้วย
การดูแลรักษาและป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ถ้าเป็นและรีบรักษาเร็ว ก็จะไม่เข้าสู่กลุ่มอาการช็อก จนทำให้เกิดการเสียชีวิต สำคัญคือไม่ไปซื้อยากลุ่มเอ็นเสด หรือยาแอสไพรินกินเพราะจะทำให้เลือดออกง่าย
สำหรับการดำเนินการหาสาเหตุเสี่ยงของโรคไข้เลือดออก (Dead Case Conference) นั้นถือเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่เมื่อมีคนป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต เราจะได้รู้สาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เดิมปรากฏว่าบางพื้นที่ไปยึดว่า จะต้องทำกระบวนการทางคลินิก เราสื่อสารว่า อยากให้ไปทำ Dead Case ด้าน Public Health สอบสวนโรคและที่มาง่าย ๆ ไม่ต้องไปทำวิเคราะห์อย่างละเอียด เพียงแค่ให้รู้คำตอบว่า จุดอ่อนคืออะไร ปัญหาอยู่ที่ไหน ขอความร่วมมือว่าให้เสร็จในสัก 3 วัน เพื่อจะได้ควบคุมโรคในพื้นที่นั้นได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น
ขณะนี้มีการดำเนินการไปแล้วตอน 20 กว่ารายซึ่งจากการสอบสวนหาสาเหตุผู้เสียชีวิตก็ยังเป็นปัจจัยเดิม ๆ คือ วินิจฉัยช้า รักษาช้า บางคนไปกินยากลุ่มเอ็นเสด โดยพบผู้เสียชีวิตในผู้ใหญ่มากขึ้นและสูงกว่าในเด็ก อาจมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง แต่อย่างหนึ่งคือเพราะผู้ใหญ่คิดว่าไข้เลือดออกเป็นโรคในเด็ก คิดว่าตนเองแข็งแรงจึงทิ้งไว้นาน
ถามว่าปกติจะรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายก่อนฤดูฝน การมาเน้นกำจัดช่วงฤดูฝนแล้ว ยังได้ผลดีอยู่หรือไม่ นพ.ธเรศยืนยันว่า ยังได้ผล จริงๆ เราทำกับทุกจังหวัดมาตั้งแต่หลังโควิดใหม่ๆ เราเริ่มเห็นสถานการณ์ไข้เลือดออก แต่ปีนี้เป็นไปตามวงรอบ คือ 2-4 ปีก็จะระบาดสูงขึ้นมาสักครั้งหนึ่งซึ่งทีมก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี
พร้อมย้ำว่า มาตรการตอนนี้ คือ รู้เร็วรักษาเร็ว จัดการแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งต้องขอเน้นย้ำประชาชนถึงการจัดการโรคไข้เลือดออกว่า เป็นการดูแลที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ต้องร่วมกันทำในบ้านตนเอง ไปจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งหมด พวกแจกัน ตู้กับข้าว โอ่งน้ำรอบบ้าน และฉีดพ่นยากันยุง ถ้าทุกคนทำก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ลง