ผวา! พบป่วยไข้เลือดออกครึ่งปีพุ่งกว่า 2.7 หมื่นราย สูงกว่าปีก่อน 3 เท่า

06 ก.ค. 2566 | 03:45 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2566 | 03:46 น.

ผวา! พบป่วยไข้เลือดออกครึ่งปีพุ่งกว่า 2.7 หมื่นราย สูงกว่าปีก่อน 3 เท่า ระบุอัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง แนะสังเกตอาการป่วยของตนเองและบุคคลในครอบครัวหากมีไข้สูง

ไข้เลือดออกกำลังอยู่สถานการณ์ที่ต้องจับตา หลังจากที่ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นช่วงที่ไข้เลือดออกแพร่ระบาดมากที่สุดจากยุงลายที่เป็นพาหะ

ล่าสุดนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยตั้งแต่ในวันที่ 1 มกราคม - 28 มิถุนายน 2566 ว่า พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมสูงถึง 27,377 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 3 เท่า 

และมีรายงานผู้เสียชีวิตเข้าระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ 33 ราย โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายนพบผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1,500 - 2,400 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1-3 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง 
 
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้เพิ่มกลยุทธ์ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศ เน้นการรณรงค์ป้องกันก่อนเกิดโรคเพื่อเปลี่ยนความคิดคนไทยให้รู้เท่าทันภัยร้ายของไข้เลือดออก 
 

โดยเริ่มต้นจากการดูแลตนเอง อีกทั้งร่วมมือกับภาคีรัฐและเอกชน ใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก ร่วมควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยความร่วมมือของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนที่เป็นกลุ่มป่วยสูงสุด 

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยที่รวดเร็วยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว (Dengue Rapid Diagnosis Test) ทำให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้เร็วมากขึ้น 

นายแพทย์ธเรศ กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบมีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยมากกว่า 2 วัน ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที และห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟิแนค แอสไพริน 

รวมถึงยาชุดแก้ปวด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต รวมถึงป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัวจากการถูกยุงกัด เช่น ทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายภายในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน