“อภัยภูเบศร-ม.มหิดล”ลุยวิจัยสมุนไพรรักษาโรคเรื้อรัง-ลดพิษ PM 2.5

20 ส.ค. 2566 | 08:37 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2566 | 08:51 น.

ไปต่อไม่รอตั้งรัฐบาล! อภัยภูเบศรจับมือสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ม.มหิดล เดินหน้าลุยวิจัยสมุนไพรพุ่งเป้าโรคเรื้อรังและลดพิษภัยจาก PM 2.5 ชู กระชาย ฟ้าทะลายโจร รางจืด เป็นธงนำ

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในพระอุปถัมภ์ฯ ได้เข้าหารือ กับ รศ.ดร.ภก.พิสิฐ เขมาวุฆฒ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อหาแนวทางการวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรกับโรคเรื้อรังและการลดผลกระทบของ PM 2.5 ต่อสุขภาพ ตั้งแต่การวิจัยในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง ไปจนถึงการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งจะทำให้สามารถตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว 

ดร.ภญ.สุภาภณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถิติการเพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรังเช่น ความดัน เบาหวาน ไขมัน ทำให้ค่ายาของโรคในกลุ่มนี้ และโรคแทรกซ้อนเพิ่มสูงมากขึ้นทุกปีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

นอกจากโรคเรื้อรังแล้ว โรคเมะเร็งเป็นอีกโรคที่ค่ายาแพงมาก ประเทศไทยต้องจ่ายค่ายาเหล่านี้ให้กับต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะไม่มีเงินที่จะนำไปใช้ที่ในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาที่จำเป็น ความหวังที่จะยุติวงจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม 

                                         “อภัยภูเบศร-ม.มหิดล”ลุยวิจัยสมุนไพรรักษาโรคเรื้อรัง-ลดพิษ PM 2.5

“เราต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อทดแทนการนำเข้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และมีราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งทางอภัยภูเบศรได้ทำงานร่วมกับสถาบันการแพทย์จักรีนฤดบดินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้ค้นพบศักยภาพของสมุนไพรไทย ที่มีแนวโน้มจะต่อยอดเป็นยาในกลุ่มนี้ได้ เช่น กระชาย ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นสมุนไพรหลักที่จะนำมาพัฒนาต่อร่วมหันในระยะแรกนี้” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว 

ด้าน รศ.ดร.ภก.พิสิฐ กล่าว สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์  เห็นความสำคัญของปัญหา PM 2.5 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่ม 1 ของสารก่อมะเร็งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จึงได้มีพัฒนาโมเดลการศึกษาวิจัยสมุนไพรที่จะมาลดพิษภัยจาก PM 2.5 ในการเก็บข้อมูลพบว่า PM 2.5 นั้น มีสารหลัก ๆ อยู่ 3 กลุ่ม โดยมีโลหะหนักเยอะที่สุด มากกว่า 10 ชนิด รองลงมาเป็นสารก่อมะเร็ง ที่มาจากการคมนาคม พวก PAH; polyaromatic hydrocarbon  

                        “อภัยภูเบศร-ม.มหิดล”ลุยวิจัยสมุนไพรรักษาโรคเรื้อรัง-ลดพิษ PM 2.5
และกลุ่มสุดท้ายมาจากธรรมชาติ ซึ่งเกิดการเผาไม้ เผาหญ้า ทำให้เกิด เลโวกลูโคซาน (levoglucosan) สารเหล่านี้ทำลายปอดมากที่สุด ต้องหาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่สามารถเข้าเนื้อปอดได้ 

จากการศึกษาพบว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรต้านการอักเสบที่เข้าไปอยู่ในปอดได้ถึง 30-40 % และการทดลองในหนูพบว่า สามารถลดการอักเสบของปอดได้จากการที่ได้รับ PM 2.5 

สมุนไพรอีกตัวที่น่าจะมีศักยภาพคือรางจืดเพราะมีงานวิจัยเกี่ยวกับการต้านพิษโลหะหนักและต้านอนุมูลอิสระลดการทำลายเซลล์จากสารพิษ ด้วยความเชี่ยวชาญในการสมุนไพรของอภัยภูเบศร ตั้งแต่การปลูก การสกัดและการ พัฒนาตำรับของอภัยภูเบศร กับความเชี่ยวชาญในการวิจัยในระดับพรีคลินิกและคลินิกของสถาบันฯ เราเชื่อมั่นว่า จะสามารถนำสมุนไพรไทยมาเป็นที่พึ่งให้คนไทยและแข่งขันในระดับโลกได้อย่างแน่นอน” ดร.พิสิฐ กล่าว