โอกาส - ความท้าทาย ‘ตลาดสมุนไพรไทย’ หลังโควิด

29 ก.ค. 2566 | 04:59 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2566 | 09:56 น.

ส่องตลาดสมุนไพรไทยหลังโควิด กับ “โอกาส” จากแรงหนุนภาครัฐ-เอกชนผลักดันสมุนไพรที่มีศักยภาพ และ “ความท้าทาย” เมื่อสมุนไพรจีนพาเหรดเข้าทำตลาด ด้วยกลยุทธ์ด้านราคา

การแข่งขันในอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและอาเซียน+6 ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2560-2565 พบว่า ตลาดสมุนไพรมีอัตราการขยายตัว 3.4% โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนของตลาดสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดพร้อมดื่ม, กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับใช้รักษา อาการไอ หวัด แพ้อากาศ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ขณะที่แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ที่มุ่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในระยะยาว โดยเน้นการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในการนำสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม ถือเป็นแรงผลักดันให้ตลาดสมุนไพรไทยมีการเติบโต

อย่างไรก็ดี ตลาดสมุนไพรในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสถานการณ์โควิด-19 พบว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อตลาดสมุนไพรไทย โดย “ศรัณย์ แจ้วจิรา” นายกสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร สะท้อนภาพกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อเสียคือรายได้ในภาพรวมของตลาดสมุนไพรลดลง เพราะสมุนไพรเป็นทั้งวัตถุดิบ (Crude), สารสกัด, เครื่องสำอาง, อาหารเสริม, ยาสมุนไพร น้อยลง

โอกาส - ความท้าทาย ‘ตลาดสมุนไพรไทย’ หลังโควิด

เช่น ยาดม ยาหม่อง ยาอม ซึ่งส่วนใหญ่ตลาดท่องเที่ยวนำไปเป็นของฝากเกือบ 30% ของมูลค่าตลาด โดยเฉพาะยาหม่องกับนํ้ามันเหลือง ที่ใช้ในสถานบริการนวด นักท่องเที่ยวน้อยใช้บริการน้อย เช่นเดียวกับสปา ที่มีเครื่องหอม และผลิตภัณฑ์ที่ทำ จากสมุนไพร ที่ใช้ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้มูลค่าตลาดหายไปเกือบ 50%

ข้อดี คือ สมุนไพรได้เกิดจากยอมรับมากขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 ตลาดยาสมุนไพรในภาพรวมใช้น้อยลง มีแต่สมุนไพรที่สามารถช่วยบรรเทา และรักษาอาการโควิด ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ตัวที่ขายดีมาก เช่น ฟ้าทะลายโจร, กระชายขาว, ขมิ้นชัน, และสมุนไพรที่เกี่ยวกับอาการไอ เช่น มะขามป้อม, มะแว้ง เป็นต้น อัตราการเติบโตประมาณ3-5 เท่า ซึ่งในปัจจุบันก็ลดลงมาแล้ว แต่ก็ยังถือว่าโตมากกว่าก่อนช่วงโควิด-19 ถึง 2 เท่า

หากเจาะลึกในตลาดจะเห็นว่า เทรนด์การใช้สินค้าที่ทำจากธรรมชาติสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นเครื่องสำอาง, อาหารเสริม และยาสมุนไพร ยังสามารถเติบโตได้ดีและต่อเนื่อง โดยแนวโน้มของสมุนไพรจะเน้นที่การสกัด เพราะขนส่งง่าย เก็บรักษาง่าย เพิ่มมูลค่าได้ แปรรูปได้หลายรูปหลาย เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยาสมุนไพร ที่ผ่านมาก่อนโควิดอัตราการเติบโตจะอยู่ราว 6-8%

ศรัณย์ แจ้วจิรา

แต่จากสถานการณ์โควิดทำให้เทรนด์การดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการเติบโตของสมุนไพรหลังโควิดราว 12-14% หรือ 2 เท่าตัว เห็นได้จากนํ้าดื่มสมุนไพร, ยาสีฟันสมุนไพร, สบู่ผสมสมุนไพร, แชมพูผสมสมุนไพร มีแบรนด์ดังๆ หลายแบรนด์ เข้ามาผลิต ส่วนผสมของสมุนไพรกันเพิ่มมากขึ้น

ส่วนสมุนไพรที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตสูง คือ “ฟ้าทะลายโจร” ถึงแม้โรคโควิด-19 จะซาลงไปบ้างแล้ว แต่ถ้าเริ่มเป็นหวัดผู้บริโภคเลือกที่จะรับประทานยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสกัด แทนพาราเซ็ตตามอล เพราะนอกจากหายไข้แล้ว ยังเป็นการระวังหวัดลงปอดหรือโควิด-19 ไปในตัว

อีกชนิดคือ “ขมิ้นชัน” ซึ่งมีให้เห็นทั้งในเครื่องสำอาง อาหารเสริม และ ยาสมุนไพร และ “กระชายดำ” ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ปลูกในได้ดีในประเทศไทย ปัจจุบันส่งออกสารสกัดสมุนไพรกระชายดำ จำนวนมากไปยังประเทศญี่ปุ่น

โอกาส - ความท้าทาย ‘ตลาดสมุนไพรไทย’ หลังโควิด

“ศรัณย์” บอกอีกว่า ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับการทำตลาดสมุนไพรคือ “ราคา” เพราะหลังจากที่สมุนไพรจีน เข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น จะเห็นว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการบริโภคกันเองในประเทศสูงอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อผลิตเพื่อขายในประเทศจีนเองและส่งออก ทำให้สามารถผลิตได้ในระดับ economy of scale ซึ่งทำให้ประเทศอื่นสู้ได้อย่างยากลำบาก

“ผลกระทบก็คงเป็นเรื่องของราคา ส่วนคุณภาพใกล้เคียงกับของประเทศไทย แต่เนื่องจากการปลอมแปลงสินค้า หรือเปลี่ยนสเป็คของวัตถุดิบสมุนไพรในการทำสินค้า สำเร็จรูป ทำให้เกิดความไม่เชื่อถือในการค้าขาย”

ที่สุดแล้วความหลายหลายของสมุนไพร และการถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เทรนด์การบริโภค Natural การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ล้วนเป็นโอกาสให้ “ตลาดสมุนไพรไทย” เติบโตได้อีกมาก