ย้อนเส้นทาง "หมอกฤตไท" เหยื่อ PM2.5 หลังโพสต์อำลาตลอดกาล

05 พ.ย. 2566 | 22:45 น.

ย้อนเส้นทาง "หมอกฤตไท" นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล เจ้าของเพจ สู้ดิ่วะ หลังโพสต์อำลาตลอดกาล หลังต่อสู้กับโรคมะเร็งปอด ลามสู่มะเร็งสมอง สาเหตุจาก PM2.5 ย้อนอ่านมุมมองแก้ปัญหาฝุ่น

PM 2.5 ฝุ่นพิษที่ยังคงเป็นปัญหาซ้ำซากอยู่จนถึงปัจจุบัน หลายฝ่ายต่างก็ออกมาพูดถึงภยันอันตรายของฝุ่นจิ๋วชนิดนี้ จนกระทั่ง 10 พฤศจิกายน 2565 เพจชื่อว่า "สู้ดิ่วะ" ได้ถูกตั้งขึ้น พร้อมเปิดเผยเรื่องราวของผู้ที่เป็นเหยื่อ ของฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 วันนั้นเป็นวันที่สังคมไทยตระหนักถึงภัยร้ายของฝุ่นจิ๋วนี้อีกครั้ง

"หมอกฤตไท" หรือ อาจารย์นายแพทย์ กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์แพทย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุ 28 ปี หมอหนุ่มที่กำลังจะแต่งงาน และซื้อบ้านเพื่อวางรากฐานชีวิตครอบครัว เขาคือเจ้าของเพจ"สู้ดิ่วะ" และเป็นผู้ป่วย“มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” ซึ่งคาดว่าฝุ่น PM 2.5 คือสาเหตุหนึ่งของการป่วยนี้

โพสต์หนึ่งในเพจ "สู้ดิ่วะ" เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 "หมอกฤตไท" ได้ระบุข้อความว่า 

เช้านี้ผมขึ้นตื่นมาพร้อมกับค่าฝุ่น 186 ในห้องที่กำลังรอรับการฉายแสงครับ ผมก็ไม่ได้บอกว่า ฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ผมเป็นมะเร็งหรอกครับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผล

ปัจจุบันผลการศึกษามากมาย มันพิสูจน์มาหมดแล้วครับ พวกตัวเลขค่าฝุ่นเท่านี้เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่กี่มวนอะไรแบบนี้ ลองหาข้อมูลได้เลยครับ และตอนนี้ผมอาการไม่สู้ดีนัก กำลังเข้ารับการรักษาด้วยการฉายแสงให้กับมะเร็งในสมองก้อนใหม่

ในโพสต์นี้ "หมอกฤตไท" ได้ระบุด้วยว่าเวลาของตนเองเหลือน้อยลงแล้ว และมีเรื่องที่ต้องการพูดถึง นั่นคือ เรื่อง ฝุ่น PM 2.5 พร้อมกับเล่าถึงเรื่องราวของตนเองว่าเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล ที่มักไปซ้อมแม้ในวันที่ค่าฝุ่นสูง จนกระทั่งพบว่าตนเองเป็นมะเร็งปอด

หมอกฤตไท นายแพทย์ กฤตไท ธนสมบัติกุล

"หมอกฤตไท" เล่าถึงความพยายามต่อสู้กับโรค การทำให้อากาศในที่ที่ต้องอาศัยอยู่มีความสะอาดจริงๆ ทั้งการติดเครื่องฟอกอากาศ ทำห้องความดันบวก จนทำให้เกิดคำถามว่า มันเป็นความรับผิดชอบของประชาชนจริงหรือไม่ ที่ต้องแบกรับค่าหน้ากาก ค่าเครื่องฟอก ประชาชนหลายอาชีพเองก็ไม่ได้สะดวกพอที่จะหลีกเลี่ยงฝุ่นอันตรายนี้ ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะติดตั้งเครื่องมือที่จะเพิ่มคุณภาพอากาศที่พวกเขาต้องหายใจเข้าไปทุกวันนี้

"หมอกฤตไท" โพสต์อำลาตลอดกาล

2 พฤศจิกายน 2566 "หมอกฤตไท" ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ผมคง อยู่ได้อีกไม่นานแล้วครับ ใครมีอะไรอบากพูดอยากบอกผม เชิญเลยครับ ผมน่าจะไปช่วงกลางเดือนหน้า ไว้เจอกันใหม่ชาติหน้านะครับ ณ ตอนนี้ผมพิมพ์ได้เท่านี้ก็เอาละครับ
ขอบคุณสำหรับทุกอย่างตลอดช่วง 30ปี ที่ผ่านมาครับ ขอโทษถ้าผมทำให้ใครไม่พอใจ"

 

ย้อนเส้นทาง "หมอกฤตไท" ต่อสู้กับโรคมะเร็งปอด 

ตุลาคม 2565
"หมอกฤตไท" ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดที่มีการลุกลามไปสมอง เข้ารับการผ่าตัด รับการตรวจทั้งร่างกาย รับยาเคมีบำบัด และรับการฉายแสง

พฤศจิกายน 2565
"หมอกฤตไท" ตั้งใจปิดเพจ "สู้ดิวะ" เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ซึ่งขณะนั้นการรักษาโรคมะเร็ง ทำให้มีอาการผม และขนร่วงทั้งร่างกาย

ธันวาคม 2565
"หมอกฤตไท" ครบ 3เดือนของการรักษามะเร็ง ผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่าก้อนที่ปอดมีขนาดเล็กลง และมะเร็งไม่มีการกระจายไปที่อวัยวะอื่นเพิ่มเติม ตัวโรคในภาพรวมยังคงสงบ แต่มะเร็งที่สมองยังไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากยาที่ได้รับสามารถผ่านเข้าสมองได้เพียงเล็กน้อย

มกราคม 2566
"หมอกฤตไท" มีอาการดีขึ้น สามารถออกกำลังกายได้แทบเป็นปกติ สามารถเล่นบาสเกตบอล ปั่นจักรยาน สามารถกลับไปทำงาน และสอนนักศึกษาได้
 

กุมภาพันธ์ 2566
ผลการฉายแสงในสมองพบว่า ก้อนที่ฉายแสงยุบลง แต่พบก้อนใหม่เพิ่มขึ้นมา 3 ก้อน และหลังจากนั้นตรวจพบก้อนในสมองเพิ่ม รวมเป็น13 ก้อน หมอกฤตไทเริ่มมีอาการชัก จนทำให้ต้องรับการฉายแสงทั้งศีรษะ ซึ่งส่งผลกระทบถึงสมองส่วนที่เป็นปกติด้วย

มีนาคม 2566
อาการของ"หมอกฤตไท"ทรุดลงจากผลข้างเคียงของการรักษา มีอาการสมองบวม ปวดหัวรุนแรง ก้อนในสมองผมมีเลือดออก

เมษายน 2566
ผลติดตามการรักษา 6 เดือนพบว่า ก้อนที่ปอดขวายุบลงไปครึ่งหนึ่งจากของเดิม ก้อนเล็กๆที่ปอดซ้ายหายไปเกือบหมด ก้อนในสมองทุกก้อนยังอยู่ แต่ถือว่าสงบ ไม่มีก้อนขึ้นใหม่ที่อวัยวะอื่น ไม่มีการกระจายไปที่กระดูก ตับ ไต ปอด หรือต่อมน้ำเหลือง มีเพียงก้อนที่เยื่อหุ้มปอดที่โตขึ้นไปกดกระดูกซี่โครงทำให้มีอาการปวด 


โดยก่อนหน้านี้ "หมอกฤตไท" เคยได้โพสต์ถึงการแก้ปัญหา PM 2.5 เอาไว้ด้วยว่า ประเทศไทยติดอันดับปัญหาฝุ่นในระดับโลกกันมาติดต่อกันหลายปี จำเป็นต้องหน่วยงานจริงจัง มีการจัดลำดับความสำคัญหรือให้น้ำหนักกับการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดของ PM2.5 มีความชัดเจนในการพยายามหาต้นตอของปัญหาเฉพาะแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่การเผาป่า หรือปัญหารถติด เพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นได้อย่างยั่งยืน