เมื่อปัญหาฝุ่น PM2.5 มาถึงคำถามที่ตามมาคือ ที่ผ่านมาการถูกแก้ปัญหาเป็นอย่างไร มาถูกทางหรือไม่ ในปีนี้ประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤตหนักอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่ต้องเจอกับวิกฤตนี้อย่างหนัก ก่อนหน้านี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เสนอปัญฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ
อ่านเพิ่มเติม : 15 ปี ฝุ่น PM 2.5-ไฟป่าภาคเหนือ กับการแก้ปัญหาที่ไปไม่ถึงไหน
ก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ และได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม มีการผลักดันให้เกิดร่าง "พ.ร.บ.อากาศสะอาด" ออกมาทั้งหมด 4 ฉบับ ซึ่งมีทั้ง พ.ร.บ.อากาศสะอาดในจากพรรคการเมือง และ "พ.ร.บ.อากาศสะอาด" ที่มาจากภาคระชาชน โดยแต่ละฉบับนั้นมีเนื้อหา เพื่อควบคุม และดูแล ให้ประชาชนได้มีอากาศที่สะอาดและบริสุทธิ์สำหรับใช้หายใจ รวมไปถึงการควบคุมและเอาผิดต้นเหตุของการปล่อยให้มลภาวะออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ
วันนี้เราจะไม่ได้พูดถึง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เเต่จะชวนมาฟังเสียงผู้อยู่อาศัยในภาคเหนือเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สิทธิที่จะได้หายใจในการอากาศสะอาดของประชาชน ถูกลิดรอนไปหรือไม่
ในรายงานข้อเสนอเพื่อยกระดับการแก้ PM2.5 โดยสภาลมหายใจภาคเหนือ พูดถึง การเข้าถึงอากาศสะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐพึงคุ้มครอง
โดยระบุว่า นโยบายและมาตรการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันต้องวางบนหลักความยุติธรรมเชิงกระบวนการซึ่งก็หมายถึงการให้โอกาสพลเมืองได้เข้าถึงข้อมูลของมลพิษ ต้นเหตุ สถิติต่างๆ ความอันตราย การแก้ปัญหาเเละการช่วยเหลือบรรเทาอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฎิบัติจริงยังไม่เป็นไปตามนั้น
เพราะอย่างที่ทราบว่ามลพิษฝุ่นควันส่วนใหญ่กําเนิดจากการผลิตและกิจกรรมของมนุษย์แต่เมื่อจะออกมาตรการไปจัดการบังคับให้แก้ไขปรับปรุงกิจกรรมบางชนิดได้รับการยกเว้นไม่บังคับจริงจังหรือได้รับอนุโลมให้เลื่อนมาตรการบังคับออกไปจากแผน เช่น การปรับปรุงกฎหมายทางด้านอุตสาหกรรม การปรับปรุงนํ้ามันเชื้อเพลิง การปรับปรุงมาตรฐานเครื่องยนต์ การอนุโลมไร่อ้อย เผาไฟให้เลื่อนจากแผนเดิม ฯลฯ
แต่สำหรับบางกลุ่ม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยกลับไม่ได้รับการอนุโลม จังหวัดภาคเหนือตอนบนเคร่งครัดกับการเผาในไร้นารายย่อย (ยกเว้นไม่กี่จังหวัดที่มีมาตรการบริหารไฟให้ขออนุญาตเผา) กลุ่มที่ประสบปัญหาที่สุดคือชนเผา/ชาวเขาชนกลุ่มน้อยที่ไม่ค่อยมีปากเสียงอยู่เเล้ว ประกาศห้ามเผาเด็ดขาดจึงกระทบกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ที่สุด เพราะวิถีชีวิตต้องใช้ไฟทําไร่ปีละครั้ง ในช่วงมีนาคม-เมษายน
มาตรการของรัฐโน้มเอียงช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่และกลุ่มกิจกรรมที่ทํารายได้เข้ารัฐสูง เช่น อุตสาหกรรมอ้อยนํ้าตาล รัฐให้งบประมาณอุดหนุนมากกว่าปีละ 3 พันล้านบาท เพื่อลดการเผา แต่ใช้งบประมาณน้อยมากสำหรับแหล่งกําเนิดอื่น เช่น งบประมาณเพื่อยกระดับการป้องกันไฟในป่าของรัฐ ที่เป็นต้นเหตุปัญหาใหญ่สุดของภาคเหนือ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศเพื่อให้ประชาชนไปปกป้องคุ้มครองตัวเอง
รัฐเข้าใจว่าเพียงแค่การประกาศค่าอากาศประจำวันของแต่ละจังหวัดโดยอ้างอิงจากเครื่องวัดตัวใหญ่ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งแท้จริงเครื่องวัดคุณภาพอากาศที่ว่าเป็นตัวแทนของค่าอากาศไม่กี่ ตร.กม. ประชาชนห่างไกลในระดับอําเภอ ตําบล หมู่บ้าน มีสิทธิที่ต้องได้รับข้อมูลคุณภาพอากาศเพื่อ การป้องกันตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้อยูู่ในความสามารถของรัฐที่จะจัดหาเครื่องวัดอากาศไปติดตั้งให้ได้ แต่เพราะไม่มีความจริงจังเชิงนโยบาย ไม่สนับสนุนให้ติดตั้งโดยอ้างว่าเกรงประชาชนจะตกใจ
ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเครื่องวัดอากาศ ยังเกี่ยวพันไปถึงความเหลื่อมลํ้าในการช่วยเหลือดูแลบรรเทาทุกข์เพราะในเมื่อรัฐใช้ค่ามาตรฐานอากาศกลางด้วยเครื่องตัวใหญ่ บ่งบอกระดับค่าอากาศประจําวัน ว่าดีหรือเลวร้ายระดับใด รัฐก็ละเลยไม่รู้พื้นที่ต่างๆ ที่ห่างไกลออกไปในจังหวัด อําเภอ ตําบล หมู่บ้าน มีค่าอากาศระดับใด หากมีบางหมู่บ้านที่ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานระดับเลวร้ายมาก จังหวัดก็ไม่ทราบเเละปล่อยให้ประชาชนเหล่านั้นเผชิญปัญหาโดยไม่มีการช่วยเหลือบรรเทา
นโยบายเครื่องวัดอากาศเพื่อป้องกันเชิงสุขภาพกับเครื่องวัดอากาศที่เทียบมาตรฐานตามกฎมายกำหนดต้องมีความชัดเจนเพื่อให้ผู้ปฎิบัตในพื้นที่เข้าใจ ในปัจจุบันรัฐยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ที่สําคัญที่สุด รัฐต้องจัดให้มีระบบป้องกันบรรเทาภัยจากมลพิษอย่างทั่วถึง เพราะการเข้าถึงอากาศสะอาด เข้าถึงข้อมูลอากาศเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องป้องกันประชาชนจากมลพิษอากาศ