ม.มหิดล เดินหน้าปฏิบัติการ Carbon Neutrality Campus

28 ก.พ. 2567 | 22:34 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มี.ค. 2567 | 02:14 น.

ม.มหิดล จับมือ UNESCAP สหประชาชาติ และ SJTU สาธารณรัฐประชาชนจีน สร้าง ‘Carbon Neutrality Campus’ สู่ภารกิจ Net Zero Emission ภายในปี พ.ศ. 2608

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเตรียมสร้างฐานข้อมูลวิชาการทางด้าน Climate Change และ Net Zero Emission ให้เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่สามารถสืบค้นจากชื่อผู้วิจัย งานวิจัย และนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม สู่การต่อยอดขยายผลที่ยั่งยืน โดยร่วมสร้างหน่วยวิจัยร่วม (Joint Unit) กับองค์กร และมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก 

ม.มหิดล เดินหน้าปฏิบัติการ Carbon Neutrality Campus

อาทิ United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (UNESCAP) และมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ - เจียวทง (SJTU - Shanghai Jiaotong University) สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมผลักกันสถาบันการศึกษาของไทยสู่สถาบันการศึกษาที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Campus) ซึ่งจะเป็นด่านสำคัญสู่การบรรลุภารกิจ Net Zero Emission ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามเป้าหมายของประเทศไทย

ด้วยพลังแห่งการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อมั่นว่าจะทำให้อีก 50 ปีแห่งความมุ่งมั่นต่อยอดพัฒนา รวมกับ 50 ปีที่ผ่านมาแห่งการเริ่มต้นด้วยก้าวที่กล้า โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะรวมเป็น “ศตวรรษแห่งการต่อสู้สู่ความยั่งยืน” ที่โลกต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

รองศาสตราจารย์ กล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้หากทุกประเทศต่างมุ่งสู่ “ยูนิคอร์น” หรือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกโดยไม่คำนึงว่าต่อไปโลกจะอยู่อย่างไร ในเมื่อต้องสูญเสียทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นเวลา 50 ปีแล้ว ที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดการเรียนการสอนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรต่อลมหายใจโลก นำโดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และคณะอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลในสาขาที่เกี่ยวข้อง จนสามารถผลิต “นักวิเคราะห์ความยั่งยืน” (Sustainable Analyst) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ดิน - น้ำ - อากาศ 

ม.มหิดล เดินหน้าปฏิบัติการ Carbon Neutrality Campus

รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สิ่งแวดล้อมเกษตร สิ่งแวดล้อมชุมชน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนต่างๆ  อาทิ การจัดการขยะ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และการร่วมรณรงค์ใช้พลังงานทดแทนวิกฤติขาดแคลนน้ำมันและเชื้อเพลิง ฯลฯ ไปจนถึงการเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันนโยบายสู่การบรรลุ 17 เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (17SDGs - Sustainable Development Goals) และแนวคิดเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG - Environment Social and Governance) ซึ่งกำลังเป็นกระแสใหม่ในโลกแห่งการประกอบการ จนทำให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบ และได้รับการอ้างอิงสูงเป็นจำนวนมาก

อาทิ การคิดค้นโมเดลในการคำนวณค่าพารามิเตอร์ต่างๆ เพื่อลดมลภาวะ การติดตามและบริหารจัดการคาร์บอนฟุตพรินท์ให้กับองค์กรทั่วประเทศ เทคโนโลยีพลังงานสะอาด ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรมแกนนำสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับชุมชน ประเทศชาติ และการสร้างเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในระดับโลก ฯลฯ

โดยคาดว่าในอนาคตจะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ต่อไปทุกองค์กรจะต้องมี “นักวิเคราะห์ความยั่งยืน” (Sustainable Analyst) ที่พร้อมทำงานร่วมกับสหสาขาวิชา รองรับการเพิ่มศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการในอุตสาหกรรมและการส่งออก

ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่การได้มาซึ่ง “คาร์บอนเครดิต” เพื่อการบรรลุภารกิจในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพิ่มความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน องค์กรต่างๆ ประเทศชาติ และสิ่งแวดล้อมโลกที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นทิศทางสำคัญสู่การพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการทางวิชาการของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไปพร้อมๆ กับประเด็นร้อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่โลกกำลังเผชิญ