ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เกี่ยวกับ การแพร่ไวรัสโรคโควิด-19 จากแม่สู่ลูก ระบุว่า งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากทีมวิจัยของ Cornell University ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Pediatric Research ต้องการตอบคำถามสำคัญที่ว่า
คุณแม่ที่ติดโควิดในขณะที่ตั้งครรภ์มีโอกาสส่งผ่านไวรัสไปหาลูกในครรภ์ได้หรือไม่ ทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างจากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วเกิดติดเชื้อมีอาการโควิด และ รักษาจนหายดี หลังจากนั้นเป็นเวลากว่า 10 สัปดาห์ที่คุณแม่แต่ละท่านคลอดลูกน้อยออกมา ทีมวิจัยได้ทำการตรวจทารกตั้งแต่แรกคลอดโดยการทำ RT-PCR จาก swab จมูก และ ตรวจหาไวรัสจากอุจจาระของเด็กน้อยทุกคน
ผลการศึกษาพบว่าทีมวิจัยไม่สามารถตรวจพบไวรัสจากตัวอย่างจากจมูกของเด็กน้อยทุกคน แต่ ในจำนวนคุณแม่ 14 คนที่อยู่ในการศึกษานี้มีถึง 11 คน ที่สามารถส่งไวรัสไปให้ทารกของตัวเองได้ และ ไวรัสสามารถอยู่ในลำไส้ของเด็กน้อยไม่น้อยกว่า 10 สัปดาห์หลังคุณแม่ติดเชื้อ ทีมวิจัยสามารถตรวจพบได้ทั้ง RNA ของไวรัส และโปรตีนหนามสไปค์ของตัวอย่างอุจจาระของเด็กน้อยตั้งแต่แรกคลอด และตรวจพบต่อเนื่องต่อไปอีกหลายวัน การศึกษายังไม่ได้ทำการวิจัยว่าไวรัสในตัวอย่างนั้นเป็นไวรัสที่ยัง active สามารถเพาะเชื้อได้หรือไม่
แต่ผลการศึกษานี้ชัดว่าไวรัสในลำไส้และส่งผ่านมายังอุจจาระของเด็กทารกรับมาจากแม่ และมีความเป็นไปได้สูงที่ผ่านทางรก เด็กน้อยทุกคนมีสุขภาพดีมีเพียงหนึ่งคนที่เสียชีวิตแต่เกิดจากความผิดปกติของแม่ไม่ใช่เกิดจากโควิด-19
ทีมวิจัยได้ลองนำตัวอย่างอุจจาระของเด็กทารกที่ตรวจพบไวรัสไปบ่มกับเซลล์เม็ดเลือดขาวแมคโครฝาจ พบว่า ตัวอย่างเหล่านั้นมีสารที่สามารถกระตุ้นการเซลล์ให้สร้างสารไซโตไคน์ชนิด IL-6 , Interferon-gamma ได้สูง ซึ่งทีมวิจัยตั้งสมมติฐานว่าการที่ลำไส้ของทารกถูกไวรัสไปกระตุ้นให้เซลล์ในช่วงการพัฒนาตัวเองมีการสร้างไซโตไคน์ชนิดที่ยังไม่ควรสร้างแบบนี้ อาจส่งผลให้การพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดเพี้ยน และ อาจมีผลกระทบต่อระบบจุลินทรีย์ในลำไส้ โตขึ้นมาอาจมีความผิดปกติต่อความสามารถในการต้านทานการติดเชื้อ
"คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อให้มากเป็นพิเศษ เรายังมีข้อมูลไม่มากจากผลกระทบดังกล่าว แต่การที่ไม่เอาอะไรไปรบกวนระบบใดๆของร่างกายน้องจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด"