"โรคตา"ที่ต้องระมัดระวังในกลุ่มผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง เช็คที่นี่

13 เม.ย. 2566 | 01:39 น.

แพทย์เผยโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตา ที่มักเกิดกับผู้สูงอายุ เช็คเลยมีโรคอะไรบ้าง มีสาเหตุมาจากอะไร ลักษณะอาการเป็นแบบไหน

วันที่ 13 เมษายน นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญ นั่นก็คือ วันผู้สูงอายุ โดยทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปีจะเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ วันนี้"ฐานเศรษฐกิจ"ขอนำบทความสุขภาพเกี่ยวกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสุขภาพดวงตา -โรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตา ซึ่งจะมีโรคอะไรบ้างที่ผู้สูงอายุต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ สามารถตรวจสอบบทความจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ดังต่อไปนี้

ต้อกระจก 
มองเห็นขุ่นมัว ตาพร่า เห็นภาพซ้อน เหมือนฝ้าบังสายตา

เกิดจากความเสื่อมของโปรตีนซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์แก้วตา ซึ่งมีหน้าที่ในการรวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาพอดี เมื่อเลนส์ตาธรรมชาติที่ทำหน้าที่รับแสงมานานเกิดภาวะการเปลี่ยนเเปลง ทำให้แสงไม่สามารถเข้าไปในตาได้ตามปกติ ทำให้เลนส์ตาเกิดสีขุ่นขึ้นจนกลายเป็นสีเหลือง สีชา หรือกลายเป็นสีขาวขุ่น ๆ ส่งผลต่อคุณภาพการมองเห็นลดลง มองไม่ชัดหรือมีอาการตามัว

ดังนั้น สาเหตุหลักของต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมตามวัย ที่กลุ่มผู้สูงวัยในอายุ 50 ปีขึ้นไปควรระวัง รวมไปถึงผู้ที่ยังอายุไม่มากแต่มีประวัติครอบครัวเป็นตาต้อกระจกก็จะมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้น

ลักษณะอาการ
เหมือนฝ้าบังสายตาเพราะเลนส์ตามีความขุ่นมัวมากขึ้น ทำให้การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอก หรือมีเหมือนฝ้าควันขาว ๆ บังสายตา การโฟกัสภาพไม่ดีเหมือนเดิม อาจมีภาพซ้อน สายตาพร่า  ในผู้ป่วยต้อกระจกบางชนิดอาจมีอาการสู้แสงสว่างไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจายและหากต้อกระจกเข้มมากจนสุก ก็จะบังลูกตาจนสูญเสียการมองเห็นได้
 

ต้อหิน
มองเห็นภาพจำกัดวงแคบลง
เกิดจากการที่ความดันในลูกตาสูงจากการระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตาน้อยผิดปกติทำให้ลูกตาแข็งขึ้น จนเกิดการกดทับขั้วประสาทตา ทำให้เซลล์ประสาทตาถูกทำลาย หากปล่อยไว้ไม่รักษา เป็นภัยเงียบที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้ในที่สุด

โดยส่วนใหญ่โรคต้อหินมักพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ และอาจเกิดในผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นต้อหิน หรือในผู้ที่สายตาสั้นหรือยาวมากๆผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หัวใจ และความดันโลหิตสูง ผู้ที่ใช้ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์มานาน หรือเคยได้รับอุบัติเหตุทางตามาก่อน

ลักษณะอาการ
มักไม่มีอาการในช่วงแรก แต่เมื่อเริ่มสูญเสียลานสายตา การมองเห็นจะค่อย ๆจำกัดวงแคบลง จากด้านข้างเข้ามาตรงกลางเรื่อย ๆ และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในที่สุด

วุ้นในตาเสื่อม
มองเห็นจุดดำ และหยากไย่ลอยไปมา

เกิดจากวุ้นตาที่ทำหน้าที่ในการคงภาวะตัวลูกตาไว้อยู่ระหว่างเลนส์กับจอประสาทตา ลักษณะใสเหมือนวุ้นหรือเยลลี่ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากวุ้นกลายเป็นลักษณะที่เหลวเหมือนน้ำมากขึ้น และมีการหดตัว เส้นใยที่เป็นโครงสร้างของน้ำวุ้นจะรวมตัวกัน และหนาเป็นจุดหรือเส้นภายในลูกตา การหดตัวของน้ำวุ้นตานี้จะทำให้น้ำวุ้นตาแยกออกจากจอประสาทตาด้านหลัง ทำให้มีจุดหรือเงาดำลอยไปมา 

โดยทั่วไปภาวะนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงปกติที่พบได้ตามอายุแต่อาจพบได้เร็วขึ้นใน คนที่มีสายตาสั้นมาก มีเบาหวานขึ้นตา คนที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจก ฉายแสงเลเซอร์ หรือมีการอักเสบภายในลูกตา

ลักษณะอาการ
การมองเห็นภาพในลานสายตาจะไม่อยู่กับที่จะเคลื่อนไปมาตามการกลอกตาของเรา และเห็นได้ชัดตอนอยู่ในที่สว่าง หรือมองไปยังผนังเพดานที่สว่างๆ หรือฉากขาว จะมองเห็นเหมือนจุดดำและหยากไย่ลอยไปมา บางครั้งในภาวะที่มีแสงน้อย ๆ อาจมีอาการเหมือนเกิดภาพลอยบนจอประสาทตาอาจทำให้เห็นเป็นแสงไฟแลบหรือไฟแฟลชร่วมด้วย ก็เป็นอาการเตือนว่าเรากำลังมีปัญหาวุ้นตาเสื่อม 

ซึ่งการมองเห็นเส้นหยากไย่ หรือจุดดำลอยไปมาเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นอันตรายกับลูกตา เพียงแต่ก่อให้เกิดความรำคาญในการมอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกที่มีเงาดำลอยไปมาจะค่อย ๆลดลงไปเอง และก่อให้เกิดความรำคาญน้อยลง เพราะเกิดความเคยชิน และปรับตัวได้เอง

จอประสาทตาเสื่อม
มองเห็นจุดดำและมัวอยู่บริเวณกลางภาพ

เกิดจากภาวะของจุดรับภาพที่อยู่ตรงส่วนกลางของจอประสาทตาเกิดการเสื่อมขึ้น ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง แต่บริเวณรอบข้างยังสามารถมองเห็นได้เป็นปกติ ส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมไปตามช่วงอายุที่มากขึ้นจึงเป็นอีกหนึ่งโรคตาที่ผู้สูงอายุต้องพึงระวัง

กลุ่มเสี่ยงคือคนที่เป็นโรคเบาหวานโดยเฉพาะคนที่คุมเบาหวานไม่ดี หรือคนที่เป็นโรคความดันสูงอาจทำให้จอตามีเส้นเลือดผิดปกติหรือมีเลือดออกในตาได้ คนที่สายตาสั้นมากๆ มีพันธุกรรมในครอบครัวเป็นโรคจอตาอยู่เดิม คนที่เคยได้รับอุบัติเหตุ การสูบบุหรี่ เป็นต้น

ลักษณะอาการ
ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อจอตาเริ่มเสื่อมมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำอยู่กลางภาพ และสูญเสียการมองเห็นตรงบริเวณกลางภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปวดร่วมด้วย

 

ที่มาข้อมูล -บทความ