สถานการณ์ระบาดโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเริ่มพบผู้ป่วยในกลุ่มเยาวชนเพิ่มมากขึ้นซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์คนแปลกหน้าที่ไม่ทราบประวัติ หรือมีคู่นอนมากกว่าหนึ่งคน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดของโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 316 ราย (เสียชีวิต 1 รายเป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง) เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมากถึง 271 ราย (ร้อยละ 85.8) และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 143 ราย (ร้อยละ 45.3) มีสัญชาติไทย 277 ราย ชาวต่างชาติ 36 ราย ไม่ระบุ 3 ราย
ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (198 ราย) จังหวัดชลบุรี (22 ราย) นนทบุรี (17 ราย) และสมุทรปราการ (12 ราย) ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุ 30-39 ปี จำนวน 152 ราย รองลงมาอายุ 20-29 ปี จำนวน 85 ราย กลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี จำนวน 28 ราย ซึ่งกลุ่มเยาวชนมีความเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับสถานการณ์ 4 เดือนย้อนหลังพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง ในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับรายงานผู้ป่วย 22 ราย เดือนมิถุนายน 48 ราย เดือนกรกฎาคม 80 ราย และเดือนสิงหาคมได้รับรายงานเพิ่มอีก 145 ราย เกือบทั้งหมดเป็นคนไทย และรับเชื้อภายในประเทศ ในจำนวนนี้มีรายงานพบผู้ป่วยฝีดาษวานรเสียชีวิต 1 รายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการรุนแรงและติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนยา Tecovirimat (ชื่อการค้า TPOXX) จากองค์การอนามัยโลกให้นำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน เป็นยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxvirus เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการมากและแพทย์รับเข้ารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่าระยะแรกของการแพร่เชื้อฝีดาษวานรในประเทศไทยกลุ่มเสี่ยงเป็นชายวัยทำงานแต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเริ่มพบเยาวชนติดเชื้อฝีดาษวานรเพิ่มมากถึง 16 ราย โดยมีรายงานจากทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กองระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีและหน่วยงานในพื้นที่
สอบสวนผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานร รายหนึ่งเป็นนักเรียนชาย อายุ 16 ปี เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ด้วยอาการตุ่มน้ำใสขึ้นตามร่างกาย ร่วมกับอวัยวะเพศบวมอักเสบ
ตรวจพบเชื้อฝีดาษวานร ประวัติเสี่ยง ผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์กับหลายคน ดำเนินการติดตามอาการของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน จนครบ 21 วันนับตั้งแต่วันสัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้าย ยังไม่พบผู้ป่วยในครัวเรือน
ดังนั้น ขอย้ำเตือนเยาวชนเเละกลุ่มชายรักชายให้งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่สัมผัสใกล้ชิดเนื้อเเนบเนื้อ หรือกอดจูบกับผู้ที่ไม่รู้จัก เวลานี้สถานการณ์ผู้ป่วยในไทยเริ่มแพร่ระบาดจากกลุ่มวัยทำงาน วัยรุ่น ไปสู่กลุ่มที่อายุน้อยลงได้แก่เยาวชนวัยเรียนเเล้ว
ขอให้ตระหนักว่า เยาวชนต้องป้องกันตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรค โดยสังเกตรอยโรค อาการเเสดงเเละสังเกตดูผิวหนังตามร่างกายของคู่นอนว่า มีผื่นแบนหรือนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองเเละตกสะเก็ด มักพบตามอวัยวะเพศรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า ลำตัว ศีรษะ ก่อนหน้าจะเกิดอาการมักมีไข้ร่วมกับอาการอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
หากสงสัยติดเชื้อฝีดาษวานร ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา พร้อมกับแยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัว ที่พัก หรือ สถานที่ทำงาน ไม่รับประทานดื่มน้ำด้วยภาชนะร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาช่วงป่วย
การรักษาความสะอาดทำความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องนอนเครื่องใช้แยก ใช้สุขาแยก หรือ ทำความสะอาดด้วยการเช็ดน้ำยาทำลายเชื้อกลุ่มสารซักฟอก เช่น ไฮโปคลอไรต์ น้ำสบู่ เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422