นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครนำแนวทางการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า หรือ EF (Executive Functions) ในเด็กปฐมวัย มาส่งเสริมในโรงเรียน และ ศูนย์เด็กเล็กในสังกัดของกทม.
โดยการดำเนินการร่วมกับกับกลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย (Dow) สถาบันรักลูก เลิร์นนิ่งกรุ๊ป สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ซึ่งจะเป็นการดำเนินการผ่านโครงการภาคี ดาว-อีเอฟ พัฒนาเด็กกทม. โดยทักษะสมอง EF คือความสามารถในการจัดการชีวิต ที่จะช่วยให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ ยับยั้งชั่งใจ มีสมาธิจดจ่อ รู้จักปรับตัว กำกับตนเองได้ คิดวิเคราะห์ และตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
วิชาการด้านประสาทวิทยาชี้ว่า เมื่อฝังคุณสมบัติเหล่านี้ตั้งแต่ปฐมวัย จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ทั้งปวง รวมทั้งป้องกันสิ่งเสพติดไปได้ตลอดชีวิต
สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ มีแผนการดำเนินงาน 5 ปีตั้งแต่ 2567 – 2571 โดยในระยะที่ 1 ซึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ได้จัดการอบรมและติดตามนิเทศให้ความรู้แก่ครูปฐมวัยไปแล้ว 221 คนจาก 10 โรงเรียน 11 ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ในเขตหนองแขม
และพัฒนาโรงเรียนต้นแบบส่งเสริม EF ปฐมวัยแล้วจำนวน 2 ร.ร. คือโรงเรียนวัดบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กับ โรงเรียนวิชากร เขตดินแดง รวมจำนวนเด็กปฐมวัยที่ได้รับการพัฒนาจากครูประมาณ 3,000 คน
ส่วนโครงการระยะที่ 2 จะรับสมัครครูจากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนจำนวน 200 คนเข้ารับการอบรมและนิเทศ พร้อมไปกับการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบเพิ่มจาก 2 เป็น 7 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่กทม. 6 โซนเขต ประกอบด้วยเขตดินแดง บางเขน ปทุมวัน ลาดกระบัง บางพลัด และราษฎร์บูรณะ ซึ่งรวมครูและพี่เลี้ยงเด็กทั้งสิ้นในระยะที่ 2 ที่ได้รับการพัฒนาประมาณ 320 คน ซึ่งจะครอบคลุมการพัฒนาเด็กปฐมวัยประมาณ 5,500 คน
คาดว่าด้วยความร่วมมือของ กทม.กับภาคี ภายใน 5 ปีจะสามารถขยายผลการให้ความรู้เรื่องทักษะสมอง EF ครอบคลุม ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสังกัดสำนักพัฒนาสังคม จำนวน 271 ศูนย์, สังกัด สำนักอนามัย จำนวน 12 ศูนย์ และโรงเรียนในสังกัด กทม.ครบทั้ง 437 แห่ง
โดยภาคีฯ จะร่วมกันจัดให้มีการทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียน การฝึกอบรมครู และครูพี่เลี้ยง ให้มีความเข้าใจในการพัฒนา EF สามารถนำไปใช้สร้างการเรียนรู้ และสอดแทรกในการเรียนการสอน กับกิจวัตรประจำวันของเด็ก เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้และการกับตนเองให้กับเด็กๆ สามารถคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ เรียนรู้ แก้ปัญหา และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข รวมทั้งจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการดูแลและพัฒนาเด็กด้วย
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า วิสัยทัศน์ของการพัฒนากทม. ต้องการให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่ มีคุณภาพชีวิตที่ดี การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งการพัฒนาเด็กนั้น ชุมชนกับสังคมมีส่วนมาก เขาบอกว่า “การเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกันดูแล” อย่าคิดว่าเราเอาเด็กไปทิ้งที่โรงเรียนแล้วเขาจะพัฒนาได้เต็มที่ เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ
นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันรักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป กล่าวว่า สถาบันรักลูกฯ ยังเดินหน้าพัฒนาขยายชุดความรู้ EF ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น มุ่งหวังให้ความรู้นี้เป็นความรู้สามัญประจำบ้าน ที่ผู้ใหญ่ทุกคนเข้าใจ และนำไปใช้พัฒนาลูกหลานกับลูกศิษย์ของตนเองได้ เพื่อให้สามารถเติบโตอย่างมีหลักคิด เท่าทัน มีภูมิคุ้มกันที่ดี และเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งเทคโนโลยีไม่ว่าบวกและลบ ภาวะโลกร้อน หรือภัยพิบัติต่างๆ ฯลฯได้อย่างเข้มแข็ง