สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง หลายพื้นที่ในจังหวัดของภาคเหนือต้องประสบปัญหาน้ำท่วมสูง
โดยเมื่อปริมาณน้ำทางภาคเหนือมีมาก ประชาชนภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้ำจะต้องไหลมาเริ่มมีความกังวล โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 54
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญที่จะมีผลต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติล่าสุดของอ่างขนาดใหญ่ พบว่า
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้เกิดข้อกังวลของพี่น้องประชาชนว่าสถานการณ์จะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับที่เคยเกิดในปี 2554
และจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก สทนช. จึงได้รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นโดยวิเคราะห์ เปรียบเทียบแนวโน้มความเสี่ยงอุทกภัยระหว่าง 3 ปี ได้แก่
ปี 2554 ปี 2565 และ ปี 2567 ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การประเมินพายุจรที่พัดผ่านเข้าประเทศไทย พบว่า ในปี 2554 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 5 ลูก
ปี 2565 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 1 ลูก ได้แก่ พายุโนรู ช่วงเดือน ก.ย. และยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันและไต้ฝุ่นที่เข้ามาบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน
ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทย จำนวน 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือน ก.ย.หรือ ต.ค.
และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนสะสม พบว่า ปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติและมีฝนตกสะสมต่อเนื่อง โดยไม่มีภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่าปกติ 24% และมีค่ามากที่สุดในคาบ 61 ปี (นับจาก พ.ศ.2494) ในปี 2565 มีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศ 1,876 มม. สูงกว่าค่าปกติ 27% หรือมากที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 40 ปี ซึ่งหมายรวมถึงมากกว่าปี 2554 ที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยร้ายแรง แต่ในปี 2565 กลับพบว่าสถานการณ์อุทกภัยไม่รุนแรงและยาวนานเหมือนปี 2554
สำหรับปี 2567 ณ เดือน ส.ค.นี้ปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศไทย ยังคงต่ำว่าค่าปกติ 4% และต่ำกว่า ปี 2554