นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (Thai Industrial Hemp Trade Association : TIHTA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไทยได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลกว่าเป็นผู้พัฒนาด้านนวัตกรรมกัญชงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาทั้งการเพาะปลูก แปรรูป
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากกัญชง เพื่อทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้อุตสาหกรรมกัญชงในไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีเม็ดเงินเกิดขึ้นแล้ว 3,000-5,000 ล้านบาท จากทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์และเฮลท์แคร์ ไม่ว่าจะเป็น ยา อาหารเสริม เวชสำอาง ฯลฯ รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ
“ปัจจุบันตลาดกัญชงโลกมีมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านบาท ยังไม่นับรวมตลาดใหม่ที่เพิ่งเกิด ทำให้มองเห็นถึงโอกาสมากมาย ขณะที่ไทยกำลังสร้างอุตสาหกรรมนี้และถือเป็นผู้นำในเอเชียและพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโลก ด้วยการสร้างอินโนเวชั่น แลนด์สเคปให้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของพันธมิตรต่างๆในอนาคต ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้าตลาดกัญชงไทยมีโอกาสที่จะเติบโตและมีมูลค่าถึง 4-5 หมื่นล้านบาท จากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ”
ล่าสุด TIHTA ร่วมกับพันธมิตรหน่วยงาน องค์กร และสมาคมต่างๆทั้งในไทยและต่างประเทศจัดงาน “Asia International HEMP Expo 2022” งานแสดงสินค้านวัตกรรมและผลิตภัณฑ์กัญชงนานาชาติ ครั้งแรกของเอเชีย ภายใต้แนวคิด Hemp For All และงานประชุมนานาชาติ 2nd International Hemp Environmental Forum ขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-3 ธ.ค. 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ได้พบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมเจรจาธุรกิจ จากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกัญชงจากทั่วโลกกว่า 25 ประเทศ
“ภายในงานจะแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมใหญ่คือ
1. งานเทรดเอ็กซ์โป ซึ่งมีบริษัทชั้นนำกว่า 300 บริษัท นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งด้านการปลูก การแปรรูป และบริการต่างๆ รวมทั้งโซนผลิตภัณฑ์ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม สปาและสมุนไพร เฟอร์นิเจอร์ พลังงานชีวภาพ วัสดุก่อสร้าง รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ
2. งานสัมนาเชิงวิชาการ ที่นำเสนอภายใต้แนวคิด New Innovation Landscpae ซึ่งปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพ มีวิทยากรจาก 6 ทวีป 15 ประเทศจำนวน 38 คน เข้าร่วมขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนนวัตกรรม โนฮาว ตลอดจนการเจรจาธุรกิจ ซึ่งตลอดการจัดงาน คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1.5 หมื่นคน และมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 5,000 ล้านบาท”
นายพรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากกัญชงจะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์และเฮลท์แคร์ อาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ล่าสุดด้วยคุณสมบัติของกัญชง ทำให้ถูกนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรมที่ต้องการลดการใช้พลังงาน ลดความร้อน ลดอุณหภูมิ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การนำไปใช้ในรถไฟฟ้าอีวี ตัวเก็บประจุยิ่งยวด ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันเริ่มใช้แล้วทั้ง BMW พอร์ช และเบนซ์ เป็นต้น รวมถึงโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการกัญชงไทย ที่จะขยายตลาดได้อีกมาก
อย่างไรก็ดี วันนี้สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการไทยและต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนคือ
1.การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการให้การศึกษาต่อผู้ใช้กัญชงอย่างถูกวิธี
2. การสร้างความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ที่ต้องมีคุณธรรม ศีลธรรม มีสัมมาอาชีวะ
3. นโยบายและแผนพัฒนาร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและรัฐ ที่ต้องเดินไปในทิศทางเดียวกันอย่างแท้จริง
4. รัฐต้องมีนโยบายในการส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างชัดเจน เพื่อทำให้ไทยเป็นผู้นำในเอเชียและระดับโลก
5. ภาครัฐและเอกชนต้องมุ่งเดินหน้าสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน
“โอกาสของผู้ประกอบการกัญชงไทยยังมีอีกมาก โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ แต่ผู้ประกอบการเองต้องรู้จักพัฒนา สร้างความแตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้”