ภายหลัง "บุหรี่ไฟฟ้า" กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมจากกรณีดาราสาวชาวไต้หวันถูกรีดไถเพราะใช้บุหรี่ไฟฟ้า คนดังและนักการเมืองหลายราย อาทิ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ,นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ รวมถึงนายสมบัติ บุญงามอนงค์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า บทลงโทษของการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า
และความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมาย พร้อมเสนอให้ศึกษาแนวทางปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย ในขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา 5 หน่วยงานรัฐได้ออกมาแถลงว่าผู้ขาย ผู้ให้บริการ ผู้นำเข้า และผู้ครอบครองมีความผิด
นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และเพจบุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร เปิดเผยว่า เห็นควรทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพราะไม่เพียงแต่ปิดช่องว่างทางกฎหมายที่ก่อให้เกิดการรีดไถพี่น้องประชาชนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังช่วยป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน รวมถึงเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ภาษีคืนรัฐอีกด้วย
ทั้งนี้ การตีความของหน่วยงานรัฐว่าผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดด้วยนั้น ยังคงถูกตั้งคำถามว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ การใช้อำนาจตีความแบบนี้ใช้โดยชอบไหม และสร้างภาระสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะในกฎหมายไม่มีการระบุถึงความผิดของผู้ใช้หรือผู้ครอบครองโดยตรง
อีกทั้งบทลงโทษของผู้ใช้ที่ตีความกันยังมีโทษหนักกว่าผู้ขาย ยิ่งตีความแบบนี้ยิ่งเท่ากับเปิดช่องให้ตำรวจรีดไถประชาชนเหมือนที่เกิดขึ้นมาหลายปี ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้เคยร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีข่าวครูท่านหนึ่งออกมาโพสท์ในโซเชียลมีเดียว่าเด็กนักเรียนชั้นมัธยม 1 แอบใช้ "บุหรี่ไฟฟ้า" ในห้องเรียนซึ่งซื้อมาจากตลาดนัดใกล้บ้าน เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้รัฐบาลป้องกันการใช้ในกลุ่มเยาวชนได้เลย
หากมีการนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาบนดิน ทำให้ถูกกฎหมาย ผู้ขายก็จะต้องปฎิบัติตามกฎหมายและช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้มีการขายกับเด็กๆเช่นเดียวกับบุหรี่ที่มีการควบคุมและมีกฎหมายอายุขั้นต่ำ
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า จากที่ติดตามกระแสการเลือกตั้งรอบที่จะถึงนี้ เห็นว่ามีหลายพรรคที่กล่าวถึงบุหรี่ไฟฟ้าโดยตรงและมีความสนใจที่จะปลดล็อกธุรกิจสีเทา เช่น คาสิโน หวยใต้ดิน หรือธุรกิจเซ็กซ์ครีเอเตอร์ให้ถูกกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำคัญในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน รีดไถเก็บเงินส่วย และทำให้รัฐบาลเก็บภาษีจากสินค้าเหล่านี้ได้มากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้เป็นสินค้าใต้ดินต่อไป
สอดคล้องกับหน่วยงานทางสาธารณสุขในประเทศชั้นนำเช่น อย.สหรัฐอเมริกา สาธารณสุขอังกฤษ สาธารณสุขแคนาดา สาธารณสุขนิวซีแลนด์ และอีกกว่า 70 ที่ยอมรับแนวคิดการลดอันตรายจากยาสูบ (tobacco harm reduction) มาใช้ควบคู่กับมาตรการเดิมในปัจจุบันและระบุว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่แบบเดิม
เพื่อช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่และลดอันตรายให้กับผู้สูบบุหรี่ที่ยังจะสูบบุหรี่ต่อไป โดยเชื่อว่าผู้สูบบุหรี่ชาวไทยกว่า 9.9 ล้านคน รวมทั้งผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองมากกว่า 10 ล้านคนต้องการได้ทางเลือกที่ดีกว่าให้ตนเองและคนรอบข้าง