บุหรี่ไฟฟ้า กลับมาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมากอีกครั้งในช่วงเวลานี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็มีปรากฎการณ์ลักษณะนี้ ก็คือ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 มีมติเห็นชอบให้คงมาตรการ ห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ตามจุดยืนของประเทศไทยในฐานะประเทศรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก เพื่อป้องกันเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงประชาชนทุกคน ไม่ให้ได้รับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท
ต่อมา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ว่า กำลังศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมองว่าการทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายจะสามารถลดอันตรายแก่ผู้สูบได้ พร้อมระบุว่าเครื่องยาสูบที่เป็นไฟฟ้าถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ 67 ประเทศทั่วโลกมีการยอมรับบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว สอดคล้องกับช่วงเวลานี้ นายชัยวุฒิ ระบุว่า เล็งผลักดันบุหรี่ไฟฟ้า ให้ถูกกฎหมาย แก้ปัญหาส่วย พร้อมเก็บภาษีเข้ารัฐช่วยพัฒนาประเทศ พร้อมหนุนเป็นนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ
ประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้า ผิดกฎหมาย ผู้ครอบครองมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ ลักลอบนำเข้าโทษจำคุกไม่เกิน10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังยังพบเห็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่จำนวนหนึ่ง หรือแม้แต่ตำรวจผู้รักษากฎหมาย อย่าง กรณี “ดาบตำรวจ” เมืองพัทยา รีดไถเงินบุหรี่ไฟฟ้า 6 หมื่น กลุ่มทัวร์ชาวจีน
ท่ามกลางการวิพากวิจารณ์ในประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง ฐานเศรษฐกิจ ขอหยิบยกการสำรวจของ Rocket Media Lab ที่สำรวจสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศต่างๆ และมาตรการที่เกี่ยวข้อง
จากข้อมูล พบว่า มี 35 ประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงประเทศไทยด้วย มี 3 ประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคติน ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา ส่วนประเทศที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ภายใต้กฎหมายควบคุมมี 73 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มี 34 ประเทศที่ควบคุมนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า
ญี่ปุ่น
บุหรี่ไฟฟ้าแบบที่มีนิโคตินได้รับการควบคุมตามกฎหมายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ยังไม่มีบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคตินได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข เก็บภาษีตามกฎหมายยาสูบ
ออสเตรเลีย
บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีสารนิโคตินเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค มาตรการหลักคือ การกำหนดอายุขั้นต่ำ ห้ามใช้ในที่สาธารณะ และห้ามเกี่ยวกับการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ส่วนบุหรี่ไฟฟ้าแบบที่มีสารนิโคติน ใช้และนำเข้าได้เฉพาะมีใบสั่งยาจากแพทย์ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564
ศรีลังกา ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนประกอบของยาสูบ
เมื่อดูข้อมูลมาตรการทางกฎหมายใน 73 ประเทศที่อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าจาก ระหว่างกุมภาพันธ์ 2563-กันยายน 2564 พบว่า มีทั้งประเทศที่ไม่มีมาตรการควบคุมไปจนถึงระบุรายละเอียดว่า ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในรถที่มีเด็กโดยสารอยู่ด้วย ในภาพรวมจากทั้งหมด 76 ประเทศ เห็นตรงกันว่าต้องจำกัดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อ คิดเป็น 81.57% เช่นเดียวกับการจำกัดการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ซึ่งราว 70% มีมาตรการควบคุมด้านนี้ รวมถึงการห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะ 73.61%
มาตรการกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศต่างๆ