รายงานของสถาบันด้านสุขภาพสากล (GWI) ระบุว่า เศรษฐกิจเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Economy ในปี 2563 มีมูลค่าตลาดทั่วโลกกว่า 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.9% และคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะแตะ 7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2566 สำหรับประเทศไทยรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนชัดเจนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย คาดว่าสร้างมูลค่าเศรษฐกิจราว 1 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเวลเนสภายใต้ นโยบาย “Health for Wealth” เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพดี มีเศรษฐกิจมั่งคั่ง
นายแพทย์กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวในปัจจุบันเป็นอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจได้ สำหรับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เข้าไปเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในภาคของ “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” โดยเฉพาะ Wellness ซึ่งทางกรมมีนโยบายเข้าไปยกระดับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง 5 ประเภท ได้แก่ ที่พัก,ร้านอาหาร,นวดเพื่อสุขภาพ, สปาและสถานพยาบาลให้เป็นศูนย์ Wellness
สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีในเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยเน้นสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงามและการแพทย์แผนไทย” โดยเป้าหมายหลักๆคือกระตุ้นให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น 22% และสร้างรายได้ขยายตัวจากเดิม 5% ซึ่งในปี 2563 รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหดตัวอย่างมีนัยยะสำคัญถึง 99.6% จากปี 2562 ส่งผลให้ภาพรวมตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2563 หดตัวเฉลี่ย 30.04% ต่อปี
“หนึ่งภารกิจที่กองการแพทย์ทางเลือกรับผิดชอบคือการยกระดับสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องให้เป็นศูนย์ Wellness หลักๆคือจัดทำเรื่ององค์ความรู้และหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมไปถึงการสร้างภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
เพื่อเชื่อมโยงที่เมืองสมุนไพรและจังหวัดอื่นที่มีความหลากหลาย เป้าหมายปีนี้คือเพิ่มจำนวนสถานประกอบการทั้ง 5 ประเภท 20% จากฐานเดิมปี2565ที่มีประมาณ 28 แห่ง ปีนี้เราตั้งเป้าไว้เบื้องต้น 36 แห่ง ,ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น 500 ราย และมีสถานประกอบการที่มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 36 แห่ง และในอนาคตอาจเป็นเขตสุขภาพละ 1 แห่ง และการมีศูนย์เวลเนสเซ็นเตอร์อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง”
ด้านพท.นพ.ธรณัส กระต่ายทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การชะลอวัย คลินิกการแพทย์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ V Precision Clinic ภายใต้การดูแลของ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็น Medical Hub คนไข้ทุกประเทศพร้อมบินเข้ารักษา ปัจจุบันยอดนักท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 10 ล้านคนและคาดว่าจะพุ่งขึ้นไปถึง 30 ล้านคนใน 2 ปี ในจำนวนนี้เป็นกลุ่ม Medical Tourism ค่อนข้างเยอะ
สำหรับ Wellness เป็นเทรนด์ที่มีการเติบโตที่น่าสนใจ ในอดีต Wellness ถูกมองว่าคือ การนวดหรือการสปาซึ่งในช่วงหลังถูกโรงแรมดึงเข้าไปไว้ในโรงแรม ปรับเป็นสปาและโปรโมตว่านี่คือ Wellness แต่สิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนไปหลังโควิดคือ ลักษณะการควบรวมคล้าย Hospitel หรือการนำโรงแรมไปรวมกับโรงพยาบาลซึ่งต่อไปจะเกิดการแปลงรูปใหม่เพราะคนไข้ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยส่วนหนึ่งตั้งใจเข้ามาใช้บริการ Medical Tourism, Medical Wellness เพื่อบำบัดตัวเองหรือฟื้นฟูร่างกายต่างๆ
“ตลาดเฮลท์ เซ็กเตอร์หอมหวานมาก ผู้เล่นหลายคนพยายามลงมาเล่นแต่สิ่งที่สำคัญคือส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและเข้ามาเล่นในกลุ่มเฮลท์แคร์ เช่นสปาและการดูแลผิว อีกส่วนลงมาเล่นในกลุ่ม Esthetic และ Anti-Aging ซึ่งเป็น Red Ocean แต่ V Precision Clinic เข้ามาเล่นในตลาดที่เป็น Black Swan เป็นการสร้าง New Experience ดีไซน์บริการครบวงจรสำหรับลูกค้ารายบุคคล
และสิ่งสำคัญคือทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเกิดการซื้อซ้ำ เพราะเป็นบริการที่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งหลายที่ไม่ได้มองในเรื่องของ longevity ทั้งที่ในความเป็นจริงตลาด Wellness จะรวมถึงเรื่องการให้อาหารเสริมหรือ Supplyment ด้วย ตอนนี้ในตลาดคู่แข่งถือว่ายังไม่เยอะ อยู่ที่ว่าใครจะมี knowledge และสามารถนำ innovation เข้าสู่ประเทศไทยและนำไปสู่ผู้บริโภคได้มากกว่ากัน”
ในส่วนของ V Precision Clinic เปิดบริการมาเพียง 2 ปีจากจุดเริ่มต้นที่เป็นส่วนหนึ่งของ แผนกเวชศาสตร์ชะลอวัย จนสปินออฟออกมามีการเติบโตที่ค่อนข้างเร็วถึง 3,000% มีคนไข้เข้ามาใช้บริการมากกว่า 6,000 รายแม้จะยังไม่มีการทำการตลาดที่จริงจังก็ตาม V Precision Clinic ถือเป็นเบอร์หนึ่งในเซ็กเมนต์ Reverse Aging หรือ การชะลอวัยแบบย้อนกลับ เพราะรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นในตลาด
โดยใช้การรักษาแบบ New Way to Heal เน้นการรักษาเฉพาะบุคคล ได้แก่ Personalized Medicine หรือ Tailor made เป็นการดีไซน์การรักษาแบบเฉพาะบุคคล , Dig to Deep หรือ Functional Medicine และ Cutting Edge of Technology การใช้เทคโนโลยีหรือการแพทย์ที่นอกเหนือจากการรักษาในโรงพยาบาล การตรวจแบบ Functional เช่น การตรวจแลปพิเศษที่ต้องส่งผลไปที่อเมริกา ออสเตรเลีย หรือฮ่องกง ซึ่งเป็นแลปเฉพาะทาง รวมทั้งการตรวจยีนส์ ในทาง Genetics เพื่อเอาวางแผนในการรักษาต่อไป
“ตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย 90% ส่วนต่างชาติยังเป็นสัดส่วนที่น้อย แต่ปีนี้จะเป็นปีที่เราพยายามที่จะคอนเน็คกับต่างชาติและเปิดตลาดมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศตะวันออกกลาง จีน และกลุ่มเวียดนาม เมียนมา ลาว และกัมพูชา เพราะลูกค้าต่างชาติเองมีความมั่นใจในการแพทย์บ้านเรา ตอนนี้เริ่มมี บริษัทเมดิคอลทัวร์ ติดต่อเข้ามาเพื่อส่งต่อลูกค้าอาหรับและเมียนมาเข้ามารักษาและฟื้นฟู
นอกจากนี้ยังมีแผนขยายธุรกิจในลักษณะของ B2B เช่นกัน โดยจะ Co-Brand กับองค์กร,ศูนย์สุขภาพ,ศูนย์ชะลอวัย หรือศูนย์ Aging Society เพราะมองว่าเทคโนโลยีที่มีสามารถช่วยผู้สูงวัยได้จริงและสามารถดูแลได้ครบวงจรในเรื่องของ Aging และอีกเป้าหมายคือ เรื่องของกายภาพ โดยแบ่งส่วนหนึ่งของ V Precision Clinic ออกมาทำส่วนของกายภาพบำบัดซึ่งเป็นเรื่องของ Physical Therapy เพื่อขยายฐานลูกค้าและคนไข้ไปในกลุ่มออฟฟิศซินโดรมและวัยทำงานมากขึ้น คาดว่าปีนี้จะมีลูกค้าเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นมากกว่า 8,000 คน และมียอดขายที่เติบโตมากกว่า 150 ล้านบาท”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,862 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566