24 มีนาคม 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรจำนวน 3 รายในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 12-23 มีนาคม 2566) จากข้อมูลการสอบสวนทางระบาดวิทยา พบว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย เป็นเพศชายอายุระหว่าง 27 - 40 ปี เป็นชาวไทย 2 ราย และต่างชาติที่มีประวัติอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาประมาณ 10 ปี อีก 1 ราย ทั้ง 3 รายไม่เคยรู้จักกัน
ทั้งนี้ ผู้ป่วย 2 รายล่าสุดให้ประวัติว่า มีเพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้าในสถานบริการที่ไปใช้บริการ โดยกรมควบคุมโรคร่วมกับกรุงเทพมหานคร ส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรคลงพื้นที่ พร้อมแยกกลุ่มเสี่ยงสัมผัสโรค ให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 3 สัปดาห์
สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม 2566) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยัน จำนวน 86,646 ราย ผู้เสียชีวิต จำนวน 112 ราย พบใน 110 ประเทศ โดยแนวโน้มการระบาดของทั่วโลกลดลง แต่ยังคงพบโรคฝีดาษวานรในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับเพศชาย (MSM) อย่างต่อเนื่องโดยประเทศที่มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยรายใหม่สูงสุดในรอบ 21 วันเป็น 10 ลำดับแรก ได้แก่
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรทั้งสิ้น 18 รายโดย 15 ราย ก่อนหน้านี้ได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว
ส่วนผู้ป่วย 3 รายล่าสุดได้รับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร และอาการผื่นเริ่มดีขึ้นแล้วซึ่งตำแหน่งที่พบตุ่มหนองอยู่บริเวณอวัยวะเพศซึ่งมีโอกาสติดเชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้าในสถานบริการที่มืดสลัว ลักษณะคล้ายคลึงกับการระบาดของโรคฝีดาษวานรในต่างประเทศ เช่น สเปน แคนาดา เมื่อปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกโรงพยาบาลเตรียมพร้อมกรณีที่พบผู้สงสัยติดเชื้อหรือผู้มีอาการเข้าข่าย ให้ทำการเก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันหาเชื้อ และแยกผู้ป่วยจนกว่าจะทราบผลการตรวจทางห้องปฎิบัติการ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ
พร้อมเน้นย้ำว่า ประชาชนสามารถป้องกันตนเองจากโรคฝีดาษวานรได้ โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีอาการไข้ และมีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย งดการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้าหรือไม่รู้ประวัติมาก่อน หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว
หากมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด หลังจากมีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะประชาชนผู้มีประวัติเสี่ยง สามารถแจ้งประวัติเสี่ยงและเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ท่านได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422