เตือน!เล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดภัยระวังไฟดูด ไฟช็อตเสี่ยงถึงตาย

13 เม.ย. 2566 | 05:51 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2566 | 05:51 น.

เตือน!เล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดภัยระวังไฟดูด ไฟช็อตเสี่ยงถึงตาย กรมควบคุมโรคชี้ร่างกายเปียกทำให้กระแสไฟสามารถไหลผ่านร่างกายได้ง่าย พร้อมเผยวิธีปฐมพยาบาลแบบถูกวิธี

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์หลายพื้นที่เริ่มมีการจัดกิจกรรมเล่นน้ำ แนะนำประชาชนในการเล่นน้ำให้ปลอดภัยระมัดระวังอันตรายจากไฟดูด ไฟช็อต 

ทั้งนี้สำหรับการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นพบได้ทั้ง อาการชา ปวดกล้ามเนื้อ เกิดอาการกระตุกรุนแรง เกิดแผลไหม้ ในบางรายอาจมีความรุนแรงถึงขั้นหมดสติ หัวใจล้มเหลว และทำให้เสียชีวิตได้ 

จากข้อมูลสถิติประเทศไทย ปี 2561-2562 ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบจำนวนผู้ป่วยจากการสัมผัสกระแสไฟฟ้าช่วงวันสงกรานต์ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 47 ราย 

สาเหตุที่พบมีทั้งน้ำกระเด็นไปถูกปลั๊กไฟ สายไฟ ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วและไฟฟ้าช็อต ร่างกายเปียกทำให้กระแสไฟสามารถไหลผ่านร่างกายได้ง่าย สายไฟหรืออุปกรณ์ชำรุด และไม่มีระบบกันน้ำซึ่งมีโอกาสเกิดไฟรั่วได้ 

นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อไปอีกว่า คำแนะนำการป้องกันไฟดูด ไฟช็อตช่วงสงกรานต์ คือ 

  • หากตัวเปียกห้ามสัมผัสวัสดุนำไฟฟ้าทุกชนิด เช่น การเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า กดกริ่งไฟฟ้า เสียบปลั๊กไฟ ชาร์จโทรศัพท์มือถือ เครื่องเสียง เสาเหล็ก ราวสะพานลอย ป้ายโฆษณา  
  • ระวังการเล่นน้ำใกล้เสาไฟฟ้า ในอุโมงค์น้ำ ปาร์ตี้โฟม อาจเกิดไฟรั่ว ไฟช็อตได้        
  • ไม่สาดน้ำไปถูกอุปกรณ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ สายไฟชำรุด 
  • ขบวนแห่ระวังเกี่ยวสายไฟที่พาดผ่านตามเส้นทาง ก่อนเล่นน้ำควรสำรวจบริเวณจุดเสี่ยงโดยรอบ สำรวจจุดติดตั้งเครื่องตัดไฟ เมื่อเกิดเหตุจะสามารถหาจุดตัดไฟได้รวดเร็ว ตรวจดูว่าบริเวณที่เล่นน้ำมีปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสี่ยงหรือไม่ ถ้ามีควรเก็บให้เรียบร้อยก่อน หากพบสายไฟ ปลั๊กไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที รวมทั้งหากมีการเล่นในอุโมงค์น้ำหรือปาร์ตี้โฟน ควรตรวจสอบการติดตั้งอุปกรณ์ฉีดน้ำ ราวสายน้ำ การฉีดสร้างโฟมให้มีความปลอดภัย
     

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในกรณีที่ถูกไฟดูด ไฟช็อตควรปฐมพยาบาลให้ถูกวิธี ดังนี้ 

  • อย่าใช้มือเปล่าแตะตัวผู้ที่โดนไฟดูด ซ็อต  
  • ตัดกระแสไฟฟ้าในที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดด้วยการถอดปลั๊ก ปลดสวิตช์หรือคัตเอาต์  
  • ใช้วัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง เชือกแห้ง พลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยาง ไม้แห้ง เขี่ยสายไฟออก ผลักหรือดึงตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว  
  • หากเกิดไฟดูด ช็อตบริเวณที่มีน้ำขัง ให้ตัดกระแสไฟและเขี่ยสายไฟออกก่อนเข้าไปช่วย  
  • หากผู้ป่วยหมดสติหรือหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ทันทีพร้อมทั้งให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว 

"หากพบผู้ได้รับบาดเจ็บจากไฟดูด ไฟช็อตควรตั้งสติให้ดี"