"โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16" อาการอย่างไร น่ากลัวแค่ไหน เช็คเลยที่นี่

18 เม.ย. 2566 | 02:22 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2566 | 02:47 น.

"โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16" อาการอย่างไร น่ากลัวแค่ไหน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมความคิดเห็นของ 3 ผู้เชี่ยวชาญไว้ให้แล้ว หมอยงเผยวิธีการดูแลรักษา ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่มีกระแสข่าวว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ครองโลกในลำดับต่อไป

ทั้งนี้ จากการตรสจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เพื่อไขคำตอบเรื่องดังกล่าวพบว่า 

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสเฟสบุ๊กส่วนตัว (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความเกี่ยวกับโควิด 19 สายพันธุ์ "XBB.1.16" ว่า

จากการศึกษาสายพันธุ์ในประเทศไทยของศูนย์ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมาสายพันธุ์จะเป็น โอมิครอน BA.2.75 และก็เปลี่ยนมาเป็น XBB.1.5 ในเดือนมีนาคม และกำลังจะเปลี่ยนเป็น XBB.1.16 หลังจากนี้อีกไม่นาน อย่างไรก็ตามก็ยังอยู่ในตระกูล XBB

อย่างไรก็ดี หากถามว่าทำไมต้องเป็นสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว  สายพันธุ์ BA.2.75 ระบาดในอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยตามหลังอเมริกา ในอเมริกาจากสายพันธุ์ BA.2.75 เปลี่ยนเป็น BQ.1.1 แล้วจึงมาเป็น XBB.1.5 (สายพันธุ์นี้คือ Kraken ปลาหมึกยักษ์ที่คอยจมเรือทะเล) 

เดือนที่ผ่านมามีสายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก 1 ตำแหน่งในหนามแหลมเกิดขึ้นที่อินเดีย คือสายพันธุ์ XBB เช่นเดียวกันเรียกว่า XBB.1.16 หรือ สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (Arcturus) แพร่กระจายได้เร็วกว่า XBB.1.5 ประมาณ 1.2 เท่า และระบาดอย่างรวดเร็วมากกว่า 20 ประเทศแล้ว  ประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นสายพันธุ์ดาวดวงแก้วเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ปลาหมึกยักษ์แน่นอน

ส่วนความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 จากอินเดียไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม แต่แพร่ระบาดง่าย เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากก็ต้องพบผู้ป่วยอาการมากเป็นอัตราส่วนปกติ  มีอาการบางอย่างแตกต่างไปบ้าง เช่น ตาแดงในเด็ก

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 อาการอย่างไร น่ากลัวแค่ไหน

ด้านวิธีการดูแลรักษา ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะเฝ้าระวังอันตรายในกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี

ขณะที่วัคซีนและภูมิต้านทานนั้น สายพันธุ์ XBB ทุกตัว หลบหลีกภูมิต้านทานเดิมได้ดี จึงเป็นแล้วเป็นอีกได้ ภูมิที่เกิดจากวัคซีนที่ใช้ในการลดความรุนแรงของโรค ใช้เพิ่มขึ้น ภูมิต้านทานชนิดสำเร็จรูป LAAB จะไม่ได้ผลในกลุ่มสายพันธุ์ XBB

หมอยง บอกอีกว่า ต่อไปสายพันธุ์ XBB.1.16 ติดต่อได้ง่ายกว่าจะเข้ามาแทนที่เป็นตัวต่อไปตามวัฏจักรวงจร

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" เกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ว่า สิ่งที่ควรระวังคือ ลักษณะอาการของ XBB.1.16 นั้นยังไม่แน่ชัดว่าแตกต่างไปจากสายพันธุ์เดิมมากน้อยเพียงใด

โดยข่าวจากอินเดียที่ระบุว่ามีอาการไข้สูง และเยื่อบุตาอักเสบนั้น เป็นรายงานจากการสังเกตอาการในผู้ป่วยเด็ก 

หมอธีระบอกว่า เท่าที่สืบค้นดู ยังไม่เห็นรายงานวิชาการที่รวบรวมสถิติอาการเปรียบเทียบออกมาอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ดี ที่แน่ๆ และมีหลักฐานเป็นรายงานวิชาการออกมาเผยแพร่แล้วคือ ผลพิสูจน์จากห้องปฏิบัติการ ที่ชี้ชัดว่า XBB.1.16 มีสมรรถนะการแพร่ที่สูงกว่า XBB.1 และ XBB.1.5 โดยที่สมรรถนะดื้อต่อภูมิคุ้มกันพอๆ กัน ซึ่งถือว่าตระกูล XBB.x นั้นถือว่าดื้อสุดเท่าที่มีการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ มาหลายปี

นอกจากนี้สถิติระบาดในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย สะท้อนชัดว่าติดกันเร็วและมาก โดยทำให้อัตราการตรวจพบผลบวกในผู้ที่มาตรวจนั้นสูงมากกว่าระลอกที่ผ่านมาด้วย (Cr: Weiland J)

สำหรับข้อสรุปที่ได้จากองค์ความรู้ตอนนี้คือ มีโอกาสติดง่ายขึ้น มากขึ้น และพึงระวังเสมอว่า การติดแต่ละครั้งนั้นทำให้ป่วยได้ รุนแรงได้ ลงปอดได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ที่พูดถึงเยอะในอินเดีย เพราะกำลังจะเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศจากการสุ่มตรวจตัวอย่างล่าสุด เมื่อมีการนำรหัสของ XBB.1.16 มาเทียบกับ XBB.1.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักของอเมริกา