การตรวจวิเคราะห์สุขภาพด้วยพันธุกรรม หรือ "จีโนมิก" (Genomic) นับเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยใหม่ของวงการสุขภาพและเวลเนส (Wellness) มีเป้าหมายในการระบุความบกพร่องทางพันธุกรรมที่อาจก่อให้เกิดโรค เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปจัดสรรโปรแกรมดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล
การตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมแบบจีโนมิกเพื่อการดูแลสุขภาพ เป็นวิธีการที่ใช้ในการตรวจสอบและประเมินรหัสพันธุกรรมของแต่ละบุคคลอย่างปลอดภัย โดยใช้การเก็บตัวอย่างน้ำลายหรือเลือดเพียงเล็กน้อย และนำไปประมวลผล เพื่อระบุเครื่องหมายทางพันธุกรรม (Genetic Marker) ที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพด้านต่าง ๆ
ประโยชน์ของการตรวจพันธุกรรมแบบจีโนมิก
ประโยชน์ของการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมแบบจีโนมิก คือ การระบุปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรมที่อาจก่อให้เกิดโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน หากทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว ก็จะสามารถปรับแผนการดูแลสุขภาพแบบเชิงรุกเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้
ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม อาจเลือกเข้ารับการตรวจเพื่อหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 ที่เชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและรังไข่ หากพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนดังกล่าวจริง พวกเขาอาจเลือกรับการตรวจคัดกรองให้บ่อยครั้งอย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาป้องกัน หรือพิจารณาการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งก็ย่อมได้
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การตรวจพันธุกรรมแบบจีโนมิกเพื่อหาผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เนื่องจากการทดสอบพันธุกรรมแบบจีโนมิก สามารถตรวจพบและระบุเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่เชื่อมโยงกับระดับคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้นและปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจึงสามารถเลือกวางแผนสุขภาพ หรือปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดโอกาสเกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน เช่น
การตอบสนองต่อยาในแต่ละบุคคล
นอกจากการวิเคราะห์พันธุกรรมแบบจีโนมิกจะระบุปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรมที่อาจก่อให้เกิดโรคได้แล้ว ยังสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการตอบสนองต่อยาบางชนิดได้อีกต่างหาก ด้วยการวิเคราะห์เครื่องหมายทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมยาของร่างกาย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถระบุได้ว่าตัวยาชนิดใดมีโอกาสเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละบุคคล และชนิดใดที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
ตัวอย่างเช่น ในบางคนอาจมีการแปรผันทางพันธุกรรมบางอย่าง ที่ส่งผลให้ร่างกายไวต่อผลข้างเคียงจากยาต้านอาการซึมเศร้าได้ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากเราสามารถระบุพันธุกรรมนั้นผ่านการตรวจพันธุกรรมแบบจีโนมิกได้ล่วงหน้า แพทย์จะสามารถสั่งยาทางเลือกชนิดอื่น หรือปรับเปลี่ยนขนาดยาเพื่อลดผลข้างเคียง พร้อมทั้งยกระดับผลการรักษาให้ดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ควรทราบไว้ว่า หากข้อมูลจากการตรวจพันธุกรรมนี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ก็อาจก่อให้เกิดข้อเสียได้เช่นกัน เช่น การเลือกปฏิบัติเชิงพันธุกรรม (Genetic Discrimination) ในการทำประกันภัย หรือในกระบวนการคัดกรองเพื่อจ้างงาน
นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่ง คือ การวิเคราะห์ผลการทดสอบผิดพลาด เพราะการตรวจพันธุกรรมแบบจีโนมิกเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน จำเป็นต้องได้รับการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น
ผู้เข้ารับการตรวจอาจต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญด้านอื่นๆ ร่วมด้วยหากต้องการวิเคราะห์ผลลัพธ์การทดสอบด้วยตนเอง เช่น ปัจจัยด้านวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อหลีกเลี่ยงการให้น้ำหนักกับเครื่องหมายทางพันธุกรรมชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงเกินไป
สรุป การตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมแบบจีโนมิกเพื่อการดูแลสุขภาพ นับว่ามีศักยภาพในการปฏิวัติวิธีดูแลสุขภาพกายและใจได้อย่างมาก หากสามารถระบุปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมที่อาจก่อให้เกิดโรค รวมถึงทราบผลการตอบสนองต่อยาของแต่ละบุคคลได้แล้ว ไม่ว่าใครก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีดูแลสุขภาพ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไม่พึงประสงค์
พร้อมทั้งช่วยให้การรักษาและป้องกันโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ดี การดำเนินการอย่างรอบคอบและตรวจสอบให้แน่ใจว่าการตรวจพันธุกรรมแบบจีโนมิก ถูกนำมาใช้อย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบก็ยังคงสำคัญเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและข้อเสียที่อาจเกิดขึ้น
เช็ครายละเอียดและข้อมูลต่าง ๆ จาก : ชีวาศรม