วิธีดูแลผู้สูงอายุให้ "กินได้ ตาดี มีแรงเดิน" ต้องทำอย่างไร เช็คที่นี่

14 เม.ย. 2566 | 10:51 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2566 | 10:51 น.

วิธีดูแลผู้สูงอายุให้ "กินได้ ตาดี มีแรงเดิน" ต้องทำอย่างไร เช็คที่นี่มีคำตอบ หลังพบผู้สูงอายุไทยกินผักและผลไม้ลดลง เสี่ยงได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอต่อร่างกาย

ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงวิธีดูแลผู้สูงอายุให้กินได้ ตาดี มีแรงเดิน ประกอบด้วย  

  • กินดี โดยควรกินข้าว-แป้งวันละ 7-9 ทัพพี ผักวันละ 4 ทัพพี ผลไม้วันละ 1-3 ส่วน เนื้อสัตว์วันละ 6-8 ช้อน กินข้าว นมวันละ 1-2 แก้ว ลักษณะอาหารควรเป็นแบบอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย รสไม่จัด และกินอาหาร ที่ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ นม ตับ เลือด ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เป็นต้น 
  • ตาดี กินอาหารที่ช่วยในการทำงานของจอประสาทตา และชะลอการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่ ผักผลไม้สีเหลืองส้ม ผักใบเขียว ปลาที่มีกรดไขมันดี ถั่วเมล็ดแห้ง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เป็นต้น 
  • มีแรงเดิน กินอาหารที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและชะลอการเสื่อมของกระดูก ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ นม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ ผักใบเขียวเข้ม ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น และควรรับประทานอาหารพร้อมกันทั้งครอบครัว เพื่อสร้างความอบอุ่นทางจิตใจให้ผู้สูงอายุ 

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง มีการเคลื่อนไหวร่างกาย หมั่นฝึกสมองเข้าสังคม พบปะพูดคุย และตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ 

ดร.นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวอีกว่า วันสงกรานต์เป็นวันที่ลูกหลานกลับมาเยี่ยมบ้าน รวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ถือเป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยเฉพาะด้านโภชนาการ 

ซึ่งจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 - 2563 พบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปกินผักและผลไม้ลดลง และกินผักผลไม้เพียงพอ (มากกว่าหรือเท่ากับ 5 ส่วนต่อวัน) เพียง 34.8% 

รวมทั้งกินเนื้อสัตว์และนมน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ทำให้ได้รับพลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะผอม กล้ามเนื้อลีบ 

ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เพิ่มความเสี่ยงการพลัดตกหกล้ม และหากมีความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตของ "ผู้สูงอายุ"
 

ดร.นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มวัยที่เปราะบาง มีความเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย ร่างกายเริ่มมีความเสื่อมถอยของระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น การรับกลิ่นและรสชาติเปลี่ยนไป มีปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน มีภาวะกลืนลำบาก เบื่ออาหาร 

ความสามารถในการดูดซึมสารอาหารและเคลื่อนไหวลำไส้ลดลง เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุบริโภคอาหารได้น้อยลง นำไปสู่การเกิดปัญหาภาวะทุพโภชนาการและเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการกินอาหารที่เพียงพอและเหมาะสมตามวัย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น