เลือกตั้งอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด เช็ค 4 แนวทางปฎิบัติที่นี่

11 พ.ค. 2566 | 07:56 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2566 | 07:57 น.

เลือกตั้งอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด เช็ค 4 แนวทางปฎิบัติที่นี่ กรมควบคุมโรคแนะกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนคู่สู้หน้าฝน เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ควบคู่กับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 66 จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละหน่วยเลือกตั้งอาจมีการรวมตัวกันของประชาชนกันอย่างแออัด กรมควบคุมโรคขอแนะนำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ประกอบด้วย 

  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะออกไปเลือกตั้ง 
  • ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ทั้งก่อนเข้าและหลังออกจากหน่วยเลือกตั้ง 
  • ใช้ปากกาส่วนตัว (หากมี) 
  • เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาล 1,699 คน เฉลี่ย 242/วัน เสียชีวิต 10 คน มีภาวะปอดอักเสบ 219 คน และใส่ท่อช่วยหายใจ 113 คน
 

"โควิด 19 ถูกปรับให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แม้ปัจจุบันจะไม่เกิดเหตุการณ์การระบาดขนาดใหญ่ และองค์การอนามัยโลกประกาศยุติภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขแล้ว แต่โควิด 19 ยังไม่หายไปไหน ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายวัน และปัจจัยเสี่ยงของการแพร่เชื้อยังคงเกิดจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะฉะนั้น มาตรการป้องกันตนเองส่วนบุคคลยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติอยู่เสมอ"

เลือกตั้ง 2566 อย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่กองระบาดวิทยา คาดการณ์ว่าจะพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และโรค "โควิด 19" เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล แนะนำให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ควบคู่กับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น 

ตามนโยบายวัคซีนคู่สู้หน้าฝน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคก่อนที่จะเข้าสู่ระยะการระบาด โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงสามารถลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งฉีดพร้อมกันได้บริเวณต้นแขน 2 ข้าง ข้างละ 1 เข็ม โดยวัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีความปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย และโดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง ให้รีบเข้ารับวัคซีนโดยเร็ว เนื่องจากกลุ่มนี้    หากป่วยจะมีอาการหนักกว่ากลุ่มทั่วไป ได้แก่  

  • หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 
  • เด็กเล็กอายุ 6 เดือน-2 ปี
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการบำบัด เบาหวาน)  
  • ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป  
  • ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)  
  • โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) 
  • ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนเริ่มเปิดเทอม จึงขอความร่วมมือทั้งผู้ปกครองและครู ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สถานศึกษาควรมีมาตรการคัดกรอง

และสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น โควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ มือ เท้า ปาก ที่มีอัตราป่วยสูงในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน