สัญญาณการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย นอกจากจะเห็นได้จากตัวเลขประชากรไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวน 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ในปี 2564 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และประเมินว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2575 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (super-aged society) คือ มีผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี สูงถึง 28%
อีกสิ่งที่พบเห็นคือ ผู้สูงวัยที่มีอยู่ต้องเผชิญกับภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ แม้ 85-90% จะเป็นผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ยังคงมีผู้สูงอายุที่ร่างกายเสื่อมและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยผู้สูงอายุเหล่านี้จะเป็นโรคมากกว่า 1 โรค ทำให้การเดินทางไปรักษายังโรงพยาบาลเป็นเรื่องยากลำบาก การรักษาตัวที่บ้านจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ยังคงอยู่ในการดูแลของแพทย์ภายใต้โครงการ “เยือนเย็น” ทางเลือกของผู้ป่วยสูงวัย
ศ.ดร. นพ. อิศรางค์ นุชประยูร ผู้อำนวยการ “เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการเยือนเย็น เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี โดยจุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคมะเร็ง ทำให้ตระหนักได้ว่า มีผู้ป่วยจำนวนมากไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงจากกระบวนการรักษาเพื่อยื้อชีวิต
ที่ต้องแลกกับความเจ็บปวดจากการผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด ดังนั้นหากถึงเวลา ผู้สูงวัยเหล่านี้จึงอยากเลือกที่จะจากไปอย่างสงบ ไม่รบกวนลูกหลาน ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าสนับสนุน จึงเลือกที่จะดูแลพวกเขาที่บ้าน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย
“มีผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ที่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง ผู้พิการที่ไม่สามารถไปโรงพยาบาล เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม จะให้คำปรึกษา ดูแลคุณภาพชีวิต หรือ Palliative care เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตระยะท้ายได้อย่างมีความสุข ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย”
จากจุดเริ่มต้นที่เข้าไปช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยสูงวัยที่รู้จักเพียงไม่กี่คน ก่อนที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อมีเป้าหมายเพื่อดำเนินการให้ยั่งยืน เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้สูงวัยที่เจ็บป่วย จากปีแรกที่มีผู้สูงวัยเข้าร่วมโครงการ 50 คน จึงเพิ่มขึ้นเป็น 90 คนในปีที่ 2, 120 คน และ 240 คนในปีถัดมา จนปีล่าสุด 2565 มีผู้สูงวัยเข้าร่วมโครงการกว่า 360 คน
ด้วยสัดส่วนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยคุณหมออิศรางค์ บอกว่า แต่ละคนที่เข้าไปดูแลจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1 หมื่นบาทต่อคนต่อปี แต่ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าผู้ป่วยบางคนไม่มีแรงสนับสนุน บางคนก็ยินดีที่จะจ่าย เพราะเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล บางรายอาจจะเป็นหมื่นเป็นแสนกับช่วงเวลาไม่กี่วัน ซึ่งโครงการก็พร้อมยินดีที่จะให้คำปรึกษาและช่วยดูแลแนะนำให้
โดยปัจจุบันทีมแพทย์และบุคลากรอาสาของโครงการเยือนเย็นมีกระจายอยู่ใน 5-6 จังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง เพชรบุรี เป็นต้น ซึ่งในอนาคตต้องการที่จะขยายโอกาสในการเข้าไปดูแลและให้ปรึกษาผู้ป่วยสูงวัยที่ต้องการจะอยู่รักษาตัวที่บ้านให้มากขึ้น และในความเป็นจริงก็มีผู้สูงอายุที่ติดต่อเข้ามาจำนวนมาก
“วันนี้ผู้ป่วยสูงวัย 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม ซึ่งเป้าหมายของผู้ป่วยเหล่านี้คือต้องการจากไปแบบไม่ทรมาน เราก็จะมีให้คำปรึกษา ขณะที่อีก 1 ใน 3 จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่เป็นมะเร็ง แต่เป็นผู้สูงวัยที่ติดเตียง สมองเสื่อม ซึ่งก็จะเป็นการให้คำปรึกษาอีกรูปแบบ”
คุณหมออิศรางค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เยือนเย็นกำลังเผชิญคือ การไม่ใช่สถานพยาบาล ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ จึงไม่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ แม้การดูแลผู้ป่วยสูงวัยจะช่วยลดต้นทุนในระบบสาธารณสุขได้มาก จึงเกิดเป็นความพยายามในการปลดล็อกเพื่อให้มีช่องว่างในการเข้ามาช่วยเหลือหรือสนับสนุนได้
เพราะโครงการยังจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงิน ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีหน่วยงานเอกชนมาร่วมสนับสนุนและส่งเสริม เช่นธนาคารกรุงไทย }ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมบริจาค แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
ที่สุดแล้ว “เยือนเย็น” จึงเป็นเหมือนจุดหมายปลายทางของผู้สูงวัยที่เจ็บป่วยและต้องการจากไปอย่างสงบ
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,888 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2566